การฟ้องคดีชู้สาว
ปัจจุบันการมีการนอกใจภริยาและนอกใจสามีเป็นจำนวนมาก ทนายคลายทุกข์ได้รับเรื่องร้องเรียนและขอคำปรึกษาเกี่ยวกับคดีชู้สาวเป็นจำนวนมากและนับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน มีคำถามยอดฮิตที่ถามเกี่ยวกับเรื่องชู้สาวดังนี้
1.ชายชู้ หมายถึง การที่ชายไปเป็นชู้กับภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้อื่น โดยมีการล่วงเกินภริยาผู้อื่นไปในทำนองชู้สาว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง
ตัวอย่างการเป็นชู้ เช่น ไปกอดจูบลูบคลำภริยาผู้อื่นหรือไปร่วมหลับนอน ร่วมประเวณีกับภริยาผู้อื่น ไม่ว่าจะกระทำในที่ลับ ก็ถือว่าเป็นชู้แล้วตามกฎหมาย
2. หญิงชู้หรือเมียน้อย หมายถึง หญิงไปแสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตัวเองมีความสัมพันธ์กับสามีชาวบ้านเขาในทำนองชู้สาว ถ้าไปร่วมหลับนอนกันในที่ลับ เช่น คอนโด โรงแรมม่านรูด อันเป็นการแอบได้เสียกันแบบลับๆ ไม่ถือว่าเป็นหญิงชู้หรือเมียน้อยที่จะเรียกค่าทดแทนตามกฎหมายได้ มีหลายคดีที่เมียน้อยไปอยู่กินกับสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้อื่น ซื้อคอนโดให้ ซื้อบ้านให้แต่แอบมาลักลอบได้เสียกันถือว่า ไม่มีความผิดตามกฎหมายครอบครัวของไทยแต่ผิดศีลธรรมเท่านั้นครับ เมื่อภริยาหลวง(ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย)ฟ้องศาล ถ้าเป็นการลักลอบได้เสียกัน ศาลมักยกฟ้อง เมียน้อยก็ลอยนวลครับ
ตัวอย่างคดีชู้สาวในชั้นศาลที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 981/2535 สรุปโดยย่อว่า จำเลยที่ 2 (เมียน้อย) ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโจทก์อยู่ร่วมเรือนเดียวกันไปไหนมาไหนด้วยกัน บุตรของโจทก์และจำเลยที่ 1 เห็นทั้งสองคนนอนร่วมเตียงเดียวกัน จำเลยที่ 2 เคยไปบ้านมารดาของจำเลยที่ 1 ในเทศกาลสำคัญ ถือว่าเป็นการแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ทำนองชู้สาวแล้ว
3. การดำเนินคดีกับชายชู้หรือเมียน้อยทำได้เพียงใด ป.พ.พ. มาตรา 1523 รับรองคุ้มครองสิทธิของคู่สมรสเพียงฟ้องเรียกค่าทดแทนเท่านั้น จะฟ้องให้บังคับภริยาน้อยยุติความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีไม่ได้ เพราะสภาพแห่งคำขอไม่เปิดช่องให้ทำได้และไม่สามารถบังคับได้และจะเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดเป็นรายประเด็น จนกว่าจะยุติความสัมพันธ์ก็ไม่ได้อีกเช่นเดียวกัน
ตัวอย่างคดีเกี่ยวกับชายชู้หรือเมียน้อย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4014/2530 การที่จำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวนั้น โจทก์จะขอให้ศาลบังคับจำเลยให้ระงับการมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีโจทก์ด้วยไม่ได้ เพราะโจทก์เพียงแต่มีสิทธิที่จะเรียกค่าทดแทนจากจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสองทั้งโดยสภาพของคำขอดังกล่าวไม่เปิดช่องให้ศาลบังคับคดีได้.
4. ถ้าคู่สมรสจะฟ้องเมียน้อยหรือชายชู้ต้องฟ้องหย่าก่อนหรือไม่ การฟ้องเรียกค่าทดแทนฟ้องชายชู้หรือเมียน้อยได้ทันที โดยไม่ต้องฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ.มาตรา 1523 วรรคสอง
ตัวอย่างคดีที่ผ่านมา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2940/2538 การเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่น ป.พ.พ.มาตรา 1523 วรรคสอง มิได้เขียนไว้ว่า ภริยาต้องฟ้องหย่าสามีก่อน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ โดยไม่ต้องฟ้องหย่าสามี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4818/2551 ภริยาฟ้องเรียกค่าทดแทนจากภริยาน้อย แม้ไม่ฟ้องหย่าสามี ก็เรียกค่าทดแทนได้
5.อายคุวามในการดำเนินคดีกับชายชู้หรือเมียน้อยต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่รู้หรือควรรู้เกี่ยวกับการมีชู้หรือการล่วงเกินภริยาในทำนองชู้สาว ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1529
ตัวอย่างคดีที่ผ่านมา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6851/2537 แม้โจทก์จะทราบความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวของจำเลยกับนาย อ. สามีโจทก์มาตั้งแต่ปลายปี 2529 ก็ตาม แต่คำฟ้องของโจทก์นั้นเองก็อ้างความสัมพันธ์ของจำเลยกับนาย อ. ฉันสามีภริยาจนมีบุตร 1 คน และในชั้นพิจารณาก็ได้ความว่าความสัมพันธ์ของจำเลยกับนาย อ. ในทำนองชู้สาวยังเกิดขึ้นต่อมามิได้หยุดกระทำและสิ้นไป คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529
โจทก์เบิกความยืนยันว่าโจทก์ไม่เคยยินยอมให้นาย อ. สามีโจทก์ไปมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับจำเลย และเคยขอร้องให้เลิกเกี่ยวข้องกับจำเลยแต่ นาย อ. ไม่เชื่อฟัง เมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับนาย อ. โจทก์และนาย อ.ได้ทะเลาะโต้เถียงกันแล้วแยกทางกัน พฤติการณ์เช่นนี้ย่อมแสดงว่าโจทก์ไม่ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้นาย อ. กับจำเลยมีความสัมพันธ์กันในทำนองชู้สาว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนจากจำเลยได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1523 วรรคสอง ที่ศาลล่างพิพากษาให้ค่าทดแทนแก่โจทก์จำนวน 250,000 บาท ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1620/2538 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่2ได้แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวมาตั้งแต่ปี2518ตลอดมาจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ลักษณะการกระทำของจำเลยที่1ได้กระทำต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดการกระทำคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1529 โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่2ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1523วรรคสองได้โดยไม่จำต้องคำนึงว่าโจทก์กับจำเลยที่1ตกลงหย่ากันเองหรือศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา1516(1)ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1523วรรคแรกหรือไม่