คดีฆ่าเอ็กซ์ จักรกฤษณ์จะเอาผิดคนร้ายได้ทั้งหมดหรือไม่|คดีฆ่าเอ็กซ์ จักรกฤษณ์จะเอาผิดคนร้ายได้ทั้งหมดหรือไม่

คดีฆ่าเอ็กซ์ จักรกฤษณ์จะเอาผิดคนร้ายได้ทั้งหมดหรือไม่

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

คดีฆ่าเอ็กซ์ จักรกฤษณ์จะเอาผิดคนร้ายได้ทั้งหมดหรือไม่

คดีนี้ต้องชื่นชมสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยเฉพาะผู้บัญชาตำรวจนครบาล

บทความวันที่ 14 พ.ย. 2556, 00:00

มีผู้อ่านทั้งหมด 8834 ครั้ง


คดีฆ่าเอ็กซ์ จักรกฤษณ์จะเอาผิดคนร้ายได้ทั้งหมดหรือไม่


           คดีนี้ต้องชื่นชมสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยเฉพาะผู้บัญชาตำรวจนครบาลที่สืบสวนสอบสวนแสวงหาข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน จนสามารถยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดมีนบุรี ออกหมายจับคนร้ายได้ยกทีม  ทั้งทนายความที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จ้างวานฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
           ทนายคลายทุกข์โดยตัวผมเอง ว่าความคดีอาญาเกี่ยวกับจ้างวานฆ่ามาหลายคดี ขอเรียนกับท่านผู้อ่านว่า ส่วนใหญ่คดีฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ทั้งมือปืนและผู้จ้างวานฆ่า ศาลมักจะยกฟ้องเพราะมีความยากลำบากมากในการพิสูจน์ความผิด  เนื่องจากมีความสลับซับซ้อน ยากในการหาพยานหลักฐาน  ดังนั้น ถ้าญาติคนตายตั้งความหวังว่าจะเอาคนผิดมาลงโทษ  ควรหาทนายความเก่งๆ  ที่มีประสบการณ์คดีฆ่าคนตายเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ โดยเป็นตัวสนับสนุน ริเริ่มเติมเต็มให้กับพนักงานอัยการโจทก์ ในการปิดรอยรั่วของคดี ซึ่งมีมากเหลือเกินและง่ายในการที่ศาลจะยกฟ้อง เพราะเป็นคดีที่มีโทษฉกรรจ์  ระวางโทษสถานเดียวคือประหารชีวิต ถ้ามีข้อสงสัยตามสมควร ศาลยกฟ้องทันที ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 227 วรรคสอง ทนายคลายทุกข์ขอนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับคดีนี้เพื่อประโยชน์ของประชาชนดังนี้
           ประเด็กแรก มือปืนซึ่งเป็นผู้ลงมือกระทำความผิดหรือผู้กระทำความผิดโดยไตร่ตรอง จะต้องมีประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ขณะยิงมายืนยัน จึงจะรับฟังได้ ถ้าไม่มีต้องมีวงจรปิดที่ชัดเจนเห็นการลงมือกระทำความผิด และความละเอียดของกล้องวงจรปิดต้องถึงขนาดเห็นรูปพรรณใบหน้าคนร้ายชัดเจนขณะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายในคดีนี้ ถ้าไม่มีต้องมีวงจรปิดเห็นเหตุการณ์ใกล้ชิดกับการกระทำความผิดหรือใกล้ชิดกับผล เช่น เหตุการณ์ก่อนยิงและหลังยิงที่ใกล้ชิดกับการยิง โดยต้องนำภาพในวงจรปิดในแต่ละภาพมาต่อจิ๊กซอว์เพื่อให้ศาลเห็นว่าเป็นภาพเดียวกันและที่สำคัญภาพต้องไม่เป็นการตัดต่อเพราะถ้าตัดต่อถือว่าเป็นพยานหลักฐานที่มีข้อบกพร่อง ไม่สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดจำเลยได้
          ประเด็นที่สอง ผู้จ้างวานใช้ เจ๊แหม่ม เป็นผู้ถูกใช้ให้ไปหามือปืน แต่ไม่ได้ไปหามือปืน แต่ไปติดต่อทนายอี๊ด และทนายอี๊ดไปติดต่อมือปืนเพื่อไปฆ่าผู้ตาย เจ๊แหม่มอยู่ในขั้นตระเตรียมการไม่ถึงขั้นลงมือกระทำความผิด จึงไม่มีความผิด พนักงานสอบสวนควรกันไว้เป็นพยาน เพราะเป็นพยานที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือสูง (อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 392/2496)  ส่วนมารดาหมอนิ่ม ยอมรับสารภาพว่าเป็นผู้จ้างวานให้คนร้ายมาฆ่าผู้ตายซึ่งเป็นลูกเขย การให้การรับสารต่อหน้าสื่อมวลชน เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวางบรรทัดฐานไว้ว่า น่าเชื่อว่าจำเลยให้การด้วยความสมัครใจ ไม่มีผู้ใดข่มขู่เพราะถ้าสุจริตชน ถ้าไม่ได้กระทำความผิด ก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธได้ ดังนั้น คำรับสารภาพของมารดาหมอนิ่ม จึงรับฟังพิสูจน์ความผิดของผู้รับสารภาพได้ว่าเป็นผู้ใช้ให้มือปืนไปฆ่าลูกเขยตนเอง ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 134/4  แต่ถ้าต้องการให้คดีมีน้ำหนักมั่นคงเกี่ยวกับพยานหลักฐาน ควรนำผู้จ้างวานใช้ไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ โดยให้แสดงท่าทางตามที่เกิดขึ้นจริงและบันทึกภาพหรือวีดีโอไว้ ก็จะทำให้พยานหลักฐานมีน้ำหนักมั่นคงสูงขึ้น นอกจากนั้นจะต้องไปตรวจสอบบัญชีเงินฝากของผู้จ้างวานใช้  ว่ามีการถอนเงินค่าจ้างจำนวน 1.2 ล้านบาทจริงหรือไม่ นำมาประกอบภาพถ่ายของทนายอี๊ด เจ๊แหม่ม และมือปืนว่ามีการพบกันหรือไม่ เพราะถ้ามีการพบกันจริง พยานหลักฐานอื่นๆ ดังที่กล่าวมาเป็นพยานหลักฐานที่มีแหล่งที่มาอิสระ จากคำรับสารภาพและมีคุณค่าเชิงพิสูจน์ เมื่อนำมาประกอบกับคำรับสารภาพของผู้จ้างวานใช้ ก็จะทำให้ผู้ต้องหาดิ้นไม่หลุด ต้องถูกลงโทษประหารชีวิตสถานเดียว ตาม ป.อ.มาตรา 289(4)
           ประเด็นที่สาม  ทนายอี๊ด ซึ่งถูกตำรวจอ้างว่า ร่วมกันกระทำความผิดโดยเป็นผู้รับงานช่วงจากเจ๊แหม่ม โดยการหามือปืนไปฆ่าผู้ตายซึ่งตามกฎหมายถือว่าเป็นผู้ใช้ เมื่อผู้ถูกใช้ไปฆ่าคนตาย ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนตัวการคือถูกประหารชีวิต ในอดีตที่ผ่านมาศาลฎีกาเคยตัดสินเกี่ยวกับคดีจ้างวานฆ่าหลายทอดต่อๆ กันไป ถ้าผู้ใช้คนแรกใช้ให้นาย ก. ไปหามือปืนมาฆ่าคน แต่ นาย ก. ไม่ยอมทำตามถือว่าอยู่ในขั้นตระเตรียมการ ยังไม่เป็นความผิดฐานใช้ เพราะยังห่างไกลต่อผลมาก แต่ต่อมาผู้รับจ้างคนแรกไปจ้างคนอื่นต่อและผู้รับจ้างคนที่ 2 ไปจ้างมือปืนเพื่อฆ่าคนตาย ผู้รับจ้างคนแรกซึ่งไม่ใช่ผู้ถูกใช้ให้กระทำความผิดตาม ป.อ.มาตรา 84 (อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 392/2496) ดังนั้น พนักงานสอบสวนจะต้องระมัดระวังประเด็นนี้ให้ดี เนื่องจากคดีนี้เป็นกรณีมีการใช้ต่อๆ กันหลายทอด การนำสืบของพนักงานอัยการโจทก์จะต้องนำสืบไม่ให้ขาดสาย จึงจะเอาตัวผู้จ้างวานใช้ทุกช่วงมาเข้าคุกได้ทุกคนนะครับ แต่คดีนี้ผู้ต้องหาทุกคนยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์นะครับ จะทำจริงหรือไม่ทนายคลายทุกข์ไม่ทราบ ถ้าทำจริงก็ต้องรับเวรกรรมตายตกไปตามกันนะครับ ส่วนทนายความก็คงจะต้องหมดอนาคต ต้องอยู่ในคุก และอาจถูกถอนใบอนุญาตว่าความได้นะครับ
           ประเด็นสุดท้าย ตัวการร่วม หมายถึง ต้องร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันและกระทำโดยเจตนาร่วมกัน ทุกคนที่ร่วมกระทำจะต้องรู้ถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำของกันและกัน มีความประสงค์ถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นของตนเอง (อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 5791/2554)  ผู้ใช้ หมายถึง ผู้ที่ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด ไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับขู่เข็ญ จ้างวานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีการอื่นใด ตาม ป.อ.มาตรา 84 วรรคหนึ่ง  ส่วนตัวภริยา ถ้ารู้ว่ามารดาจะฆ่าสามีตนเอง ห้ามปรามได้แต่ไม่ห้ามปราม อาจมีความผิดฐานสนับสนุนให้ผู้อื่นให้ฆ่าสามีตนเองโดยไตร่ตรองไว้ก่อน (อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 1123/2526)

ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 84
  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด
ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทำลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
มาตรา 289  ผู้ใด
(1) ฆ่าบุพการี
(2) ฆ่าเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำ หรือได้กระทำการตามหน้าที่
(3) ฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่บุคคลนั้นจะช่วยหรือได้ช่วยเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้ว
(4) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
(5) ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย
(6) ฆ่าผู้อื่นเพื่อตระเตรียมการ หรือเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น หรือ
(7) ฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอา หรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้
ต้องระวางโทษประหารชีวิต

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 227
  ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น
เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย

มาตรา 134/4  ในการถามคำให้การผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า
(1) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้
(2) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้
เมื่อผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใดก็ให้จดคำให้การไว้ ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การเลยก็ให้บันทึกไว้
ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา 134/1 มาตรา 134/2 และมาตรา 134/3 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้

คำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง
1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 392/2496

จำเลยใช้ให้คนผู้หนึ่งไปเป็นผู้ว่าจ้างคนอื่น ให้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ที่จำเลยโกรธเคืองให้ถึงแก่ความตายดังนี้ เมื่อผู้ที่รับใช้รู้สึกสำนึกตัวกลัวความผิดไม่ไปจ้างคนตามที่จำเลยใช้เช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยมิได้ใช้ให้ผู้นั้นกระทำความผิดด้วยตนเองโดยตรงเป็นแต่ให้ผู้นั้นหาจ้างคนมากระทำความผิดอีกชั้นหนึ่งซึ่งเท่ากับใช้ให้ผู้นั้นไปกระทำความผิดตามมาตรา 174 นั่นเองจึงอยู่ในขั้นเตรียมการ ยังห่างไกลต่อผลมาก จำเลยย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 174 วรรค 1

2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1423/2535
พระราชบัญญัติ ญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494มาตรา 8(1) กำหนดให้ศาลคดีเด็กและเยาวชนมีอำนาจเช่นเดียวกับศาลจังหวัดในคดีอาญาที่มีข้อหาว่า เด็กหรือเยาวชนกระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดเว้นแต่คดีอาญาที่มีข้อหาว่า เยาวชนซึ่งอายุเกินสิบหกปีบริบูรณ์กระทำความผิดในเหตุฉกรรจ์บางประเภทตามที่ระบุไว้รวมทั้งความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เมื่อจำเลยที่ 5 มีอายุเกินกว่าสิบหกปีบริบูรณ์และกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ แม้จะกระทำความผิดในท้องที่ที่มีศาลคดีเด็กและเยาวชนเปิดดำเนินการแล้วก็ตาม เมื่อเป็นความผิดที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลคดีเด็กและเยาวชน ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ จำเลยที่ 5 ร่วมกับพวกอีก 4 คน พากันขึ้นไปบนรถยนต์โดยสารขณะที่พวกจำเลยทำการปล้นทรัพย์ผู้เสียหายอยู่นั้น จำเลยที่ 5ยืนโหนบันไดรถบังไม่ให้คนอื่นเห็นการปล้นทรัพย์ที่พวกจำเลยกระทำอยู่เป็นการร่วมกระทำความผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำ จำเลยที่ 5จึงเป็นตัวการร่วมในความผิดฐานปล้นทรัพย์ การกำหนดโทษและการไม่ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลย สำหรับความผิดที่ร่วมกันเป็นตัวการปล้นทรัพย์ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเป็นเหตุในลักษณะคดี เมื่อศาลฎีกาพิพากษาลดมาตราส่วนโทษและลดโทษให้จำเลยที่ฎีกา ย่อมมีอำนาจพิพากษาเลยไปถึงจำเลยที่มิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

3.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1750/2544
ก่อนที่โจทก์ร่วมถูกคนร้ายฟัน จำเลยได้ชักชวนโจทก์ร่วมให้ออกไปยืนรออยู่ที่หน้าซุ้มประตูวัดแล้วจำเลยไปติดเครื่องรถจักรยานยนต์รออยู่ เมื่อ ว. พี่เขยของจำเลยเข้าไปฟันโจทก์ร่วมแล้วได้วิ่งไปซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่จำเลยติดเครื่องรออยู่หลบหนีไปด้วยกัน เป็นการแสดงให้เห็นว่า จำเลยกับ ว. ได้คบคิดที่จะทำร้ายโจทก์ร่วมในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำอันเป็นการร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 แม้การชักชวนโจทก์ร่วมไปที่เกิดเหตุจะเป็นการช่วยเหลือให้ความสะดวกในการที่พวกของจำเลยกระทำความผิดหรือการที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์พาพวกหลบหนีจะมิใช่เป็นการกระทำในส่วนสำคัญหรือสาระสำคัญของความผิดฐานพยายามฆ่าก็ตามแต่เมื่อจำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำแล้วจำเลยก็มิใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

4.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 565/2502
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ร่วมมือกับพวกกระทำความผิดเมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยได้ร่วมกันกับพวกกระทำความผิดตามฟ้องแม้จำเลยมิได้ลงมือกระทำการปล้น จำเลยเพียงรับหน้าที่คอยแจ้งสัญญานอันตรายให้พวกทราบซึ่งเป็นการกระทำส่วนหนึ่งเพื่อให้การปล้นบรรลุผลสำเร็จเช่นนี้เรียกได้ว่าจำเลยเป็นตัวการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 แล้ว ข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาจึงไม่ต่างกับฟ้องและการกระทำดังกล่าวของจำเลยมิใช่มีผิดเพียงฐานสมรู้ เพราะจำเลยมิใช่เพียงแต่ให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่การกระทำความผิดเท่านั้นแต่ได้ร่วมกับพวกวางแผนกระทำการปล้นและร่วมในการปล้นมาแต่ต้นโดยตลอด
ถึงแม้ในการปล้น จำเลยได้ร่วมรู้ถึงการที่พวกของจำเลยได้เตรียมอาวุธปืนมาด้วยก็ดี แต่การเตรียมอาวุธปืนมาอาจเพียงเพื่อสำหรับใช้ในการปล้นจำเลยอาจไม่ทราบถึงเจตนาของพวกตนที่ถึงกับจะใช้ปืนยิงเจ้าพนักงานด้วยก็ได้ทั้งขณะที่คนร้ายยิงเจ้าพนักงาน จำเลยก็ได้ถูกเจ้าพนักงานคุมตัวไว้ก่อนแล้วเช่นนี้จำเลยยังไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน คงมีความผิดฐานปล้นเท่านั้น

5.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 848/2507
จำเลยได้เสียกับบุตรสาวของผู้เสียหายแล้วพากันมาอยู่บ้านผู้เสียหายได้ 7-8 วัน จำเลยบอกผู้เสียหายว่าจะไปซื้อข้าวสารมาเก็บไว้กินในฤดูทำนา รุ่งขึ้นจำเลยเอาโคของผู้เสียหายเทียมเกวียนจะไปซื้อข้าวสาร ภริยาผู้เสียหายไปกับจำเลยด้วย เมื่อถึงที่หมายจำเลยปลดโคจากเกวียนแล้วก็แยกไป ต่อมาไม่นานจำเลยกลับมาถามภริยาผู้เสียหายว่า วัวกินน้ำแล้วหรือยัง ประเดี๋ยวข้าวสารจะมาแล้วภริยาผู้เสียหายว่ายัง จำเลยจึงนำโคไปอ้างว่าจะนำไปให้กินน้ำ แล้วก็นำโคไปขายเสียพร้อมทั้งมอบตั๋วพิมพ์รูปพรรณโคให้ผู้ซื้อไปด้วย ดังนี้ พฤติการณ์ของจำเลยส่อให้เห็นความทุจริตของจำเลยตั้งแต่ลอบเอาตั๋วพิมพ์รูปพรรณไปแล้ว เมื่อพิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายฉันลูกเขยพ่อตาแม่ยาย จำเลยจะเอาโคไปใช้ได้ตามพลการของจำเลยโดยการวิสาสะหาจำต้องขอรับอนุญาตหรือความยินยอมดังเช่นบุคคลอื่นไม่ การที่จำเลยใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหายและภริยานั้น มิใช่เพื่อให้ผู้เสียหายและภริยายอมส่งมอบโคให้จำเลย หากเป็นแต่เพียงอุบายในการที่จำเลยจะพาโคไปได้แนบเนียนขึ้นเท่านั้น การที่จำเลยเอาโคไปหาใช่ผลโดยตรงจากการหลอกลวงไม่ จำเลยจึงมีผิดฐานลักทรัพย์ หาผิดฐานฉ้อโกงไม่

6.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1123/2526
การวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงแห่งคดี ศาลจะต้องใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงในสำนวนว่าควรฟังได้เพียงไรหรือไม่ มิใช่ว่าพยานเบิกความอย่างไรแล้ว ศาลจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของพยานเสมอไปและไม่มีกฎหมายบทใดบัญญัติห้ามมิให้ศาลรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของพยานเป็นข้อประกอบการพิจารณาของศาล ส่วนจะรับฟังได้เพียงใดหรือไม่นั้นสุดแล้วแต่เหตุผลของแต่ละเรื่องไป
           จำเลยที่ 2 ทราบเรื่องจำเลยที่ 1 จะฆ่าผู้ตายซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 2มาก่อนจึงใช้ให้ ว. เข้าไปตลบมุ้งของผู้ตาย แล้วจำเลยที่ 1 เข้าไปตีผู้ตายโดยจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ในฐานะที่จะห้ามได้แต่ไม่ห้าม กลับไปยืนฟังอยู่ข้างห้องนอน ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการกระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการฆ่า จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1

 ไร้สาระมากๆๆ ทนายปัญญาอ่อน  ผมเชื่อว่าคนชั่วจะได้รับกรรม

โดยคุณ อ 19 พ.ย. 2556, 07:41

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก