วันสาร์ทจีน
เมื่อวานนี้คนไทยเชื้อสายจีน
ต่างจับจ่ายของที่ต้องเตรียมตัวในการไหว้
จะเห็นได้จากตามห้างสรรพสินค้าหรือตามตลาดคนไทยเชื้อสายจีน และวันนี้ก็เป็นวันไหว้ คิดว่าหลายคนยังไม่ทราบว่า วันสาร์ทจีน มีความสำคัญอย่างไร และมีความเป็นมาอย่างไร ทนายคลายทุกข์
จึงค้นหาที่มาของวันสาร์ทจีนมาเพื่อให้ท่านที่ยังไม่ทราบประวัติว่ามีความเป็นมาอย่างไร
ตามปฏิทินจีนโบราณ เดือน 7
ถือเป็นเดือนสำคัญที่ลูกหลานจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษโดยพิธีเซ่นไหว้
หญิงที่แต่งงานแล้ว ต้องกลับมาเซ่นไหว้ที่บ้านเดิม
ต่อมาเรื่องนี้ได้ไปปะปนกับเรื่องของพระโมคคัลลานะ
ที่ช่วยมารดาให้พ้นจากนรก จึงมีความเชื่อว่าเป็นเวลาที่ประตูนรกนั้นได้ถูกเปิด
เพื่อให้บรรดาภูตผีออกเร่ร่อนตามสถานที่ต่างๆ
ชาวจีนจะมีการเซ่นไหว้เพิ่มขึ้นมาอีกพิธีหนึ่ง คือ ในตอนเช้าจะเซ่นไหว้เจ้าที่
และเซ่นไหว้บรรพบุรุษ
ตอนบ่ายจะเซ่นไหว้ผีไม่มีญาติ หรือบรรพบุรุษต้นตระกูลของชาวจีน
ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ไม่มีลูกหลานสืบสกุล
แต่ในบางแห่งก็นิยมไหว้ในตอนเช้าด้วยเช่นกัน
ประเพณีนี้ได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน
ในรอบหนึ่งปีชาวจีนจะมีไหว้เจ้าใหญ่ 8 ครั้ง
เรียกว่าไหว้ 8 เทศกาลโป๊ะโจ่ย
การไหว้สารทจีนเป็นการไหว้ครั้งที่ 5 ตรงกับวันที่ 15 เดือน 7
ซึ่งถือกันว่าเป็นเดือนผี เป็นเดือนที่ประตูนรกปิดเปิด
ให้ผีทั้งหลายมารับกุศลผลบุญได้
ตำราจีนหนึ่งกล่าวไว้ว่า วันที่ 15 เดือน 7
เป็นวันที่เช็งฮีไต๋ตี๋จะตรวจดูบัญชีวิญญาณคนตาย ส่งวิญญาณดีขึ้นสวรรค์
และส่งวิญญาณร้ายลงนรก ชาวจีนทั้งหลายรู้สึกสงสารวิญญาณร้าย
จึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ นรกจึงเปิดประตู เพื่อให้วิญญาณร้ายออกมารับกุศลผลบุญได้
การไหว้
การไหว้ในเทศกาลสารทจีนต่างจากการไหว้ในเทศกาลอื่นๆ ตรงที่แบ่งการไหว้ออกเป็น
3
ชุด
ชุดแรก สำหรับไหว้เจ้าที่
จะไหว้ในตอนเช้า มีอาหารคาวหวาน ขนมไหว้ก็ใช้ ถ้วยฟู กุ้ยไช่
ซึ่งต้องมีสีแดงแต้มเป็นจุดเอาไว้ ส่วนขนมไหว้พิเศษที่ต้องมี
ซึ่งเป็นประเพณีของสารทจีน คือ ขนมเข่ง ขนมเทียน นอกจากนั้นก็มีผลไม้ น้ำชา
หรือเหล้าจีน และกระดาษเงิน กระดาษทอง
ชุดที่สอง สำหรับไหว้บรรพบุรุษ
คล้ายของไหว้เจ้าที่ พร้อมด้วยกับข้าวที่ บรรพบุรุษชอบ
ตามธรรมเนียมต้องมีน้ำแกง หรือขนมน้ำใสๆ วางข้างชามข้าวสวย และน้ำชา
จัดชุดตามจำนวนของบรรพบุรุษ ถ้าเป็นคนมีฐานะก็นิยมไหว้โหงวแซ คือมี เป็ด ไก่ หมู
ตับ ปลา พร้อมด้วยกับข้าวอีกหลายอย่าง แล้วแต่ว่าจะจัดที่บรรพบุรุษชอบ
หรือจะจัดแบบที่ลูกหลานคนที่ได้กินจริงชอบ
แต่ตามธรรมเนียมการไหว้บรรพบุรุษ
ต้องมีของน้ำสำหรับซดให้คล่องคอ จะเป็นน้ำแกงก็ได้ หรือเป็นขนม น้ำใส ๆ เช่น อี๊
(คือขนมบัวลอย) ก็ได้
วางเคียงกับชามข้าวสวยและน้ำชา ของหวานก็มี ขนมเข่ง ขนมเทียน ผลไม้
และกระดาษเงินกระดาษทอง
ที่ขาดไม่ได้ก็คือ ขนมเข่ง ขนมเทียน ผลไม้ และกระดาษเงินกระดาษทอง
ชุดที่สาม สำหรับไหว้วิญญาณพเนจร
ผีไม่มีญาติ ซึ่งไม่มีลูกหลานกราบไหว้ เรียกว่า
ไป๊ฮ้อเฮียตี๋ หรือบางแห่งเรียกว่า ฮ้อเฮียตี๋
จะต้องไหว้นอกบ้าน ของไหว้มีทั้งของคาวหวาน กับผลไม้ตามต้องการ
และที่พิเศษคือ มีข้าวหอมแบบจีนโบราณ คอปึ่ง เผือกนึ่งผ่าซีกเป็นเสี้ยวใส่ถาด
เส้นหมี่ห่อใหญ่ เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทองแบบเฉพาะ ที่เรียกว่า
อ่วงแซจิว จัดทุกอย่างวางอยู่ด้วยกันสำหรับเซ่นไหว้
พิธีไหว้
การไหว้เจ้าที่ จะไหว้ก่อนในตอนเช้า เผากระดาษเงินกระดาษทองจนเรียบร้อย
สายๆ จึงตั้งโต๊ะไหว้บรรพบุรุษและไหว้ฮ้อเฮียตี๋ บางบ้าน
นิยมไหว้ตอนบ่าย
ถ้าไหว้พร้อมกัน ให้ตั้งโต๊ะแยกจากกัน แต่เผากระดาษเงินกระดาษทองร่วมกันได้
สำหรับการไหว้ขนมเข่งขนมเทียนในเทศกาลสารทจีนนี้ ที่เมืองจีนไม่มี
ขนมที่ใช้ไหว้ที่เมืองจีนจะเป็นขนม 5 อย่าง เรียกว่า ?โหงวเปี้ย? หรือ เรียกชื่อเป็นชุดว่า ปัง เปี้ย หมี่
มั่ว กี
ปัง คือ ขนมทึงปัง
เป็นขนมที่ทำจากน้ำตาล
เปี้ย คือ ขนมหนึงเปี้ย
คล้ายขนมไข่
หมี่ คือ ขนมหมี่เท้า
ทำจากแป้งข้าวเจ้า ข้างในไส้เต้าซา
มั่ว คือ ขนมทึกกี่
เป็นขนมข้าวพองสีแดง ตรงกลางมีไส้เป็นแผ่นบาง
กี คือ ขนมทึงกี
ทำเป็นชิ้นใหญ่ยาว เวลาจะกินต้องตัดเป็นชิ้นเล็กๆ
เนื่องจากที่เมืองไทยหาส่วนผสมที่ใช้ทำขนมทั้งห้านี้ไม่ได้ครบถ้วน จึงงดไป
แล้วเปลี่ยนมาเป็นการไหว้ขนมเข่ง ขนมเทียน ในการไหว้เทศกาลสารทจีนแทน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.newminisociety.com ที่เอื้อเฟื้อข้อมูล