การตีความสัญญา|การตีความสัญญา

การตีความสัญญา

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

การตีความสัญญา

ปัจจุบันการทำสัญญาระหว่างเอกชนด้วยกัน และระหว่างรัฐกับเอกชน มีปัญหาเกี่ยวกับการตีความเป็นจำนวนมาก

บทความวันที่ 23 พ.ย. 2559, 00:00

มีผู้อ่านทั้งหมด 4788 ครั้ง


 การตีความสัญญา

ปัจจุบันการทำสัญญาระหว่างเอกชนด้วยกัน และระหว่างรัฐกับเอกชน มีปัญหาเกี่ยวกับการตีความเป็นจำนวนมาก มีคดีขึ้นสู่ศาลหลายคดี ท่านผู้อ่านจึงขอให้ผมช่วยให้ความรู้เกี่ยวกับการตีความการแสดงเจตนาและการตีความสัญญาที่เป็นเอกสารว่ามีหลักเกณฑ์อย่างไร ในกรณีสัญญาชัดแจ้งและสัญญาไม่ชัดแจ้ง ถ้าสัญญาชัดแจ้งไม่ต้องตีความ แต่ถ้าสัญญาไม่ชัดแจ้งหรือดูคลุมเคลือ ต้องตีความและจะตีความให้คู่สัญญาเสียหายไม่ได้ อันนี้เป็นหลักทั่วไปของการตีความสัญญา ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวกับการตีความสัญญา มีดังนี้
การตีความการแสดงเจตนา
มาตรา 171  ในการตีความการแสดงเจตนานั้น ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร
การตีความเอกสาร
มาตรา 10  เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในเอกสารอาจตีความได้สองนัย นัยไหนจะทำให้เป็นผลบังคับได้ ให้ถือเอาตามนัยนั้นดีกว่าที่จะถือเอานัยที่ไร้ผล
มาตรา 11  ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น
มาตรา 12  ในกรณีที่จำนวนเงินหรือปริมาณในเอกสารแสดงไว้ทั้งตัวอักษรและตัวเลข ถ้าตัวอักษรกับตัวเลขไม่ตรงกัน และมิอาจหยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงได้ ให้ถือเอาจำนวนเงินหรือปริมาณที่เป็นตัวอักษรเป็นประมาณ
มาตรา 13  ถ้าจำนวนเงินหรือปริมาณในเอกสารแสดงไว้เป็นตัวอักษรหลายแห่งหรือเป็นตัวเลขหลายแห่ง แต่ที่แสดงไว้หลายแห่งนั้นไม่ตรงกัน และมิอาจหยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงได้ ให้ถือเอาจำนวนเงินหรือปริมาณน้อยที่สุดเป็นประมาณ
มาตรา 14  ในกรณีที่เอกสารทำขึ้นไว้หลายภาษา ไม่ว่าจะเป็นฉบับเดียวกันหรือหลายฉบับก็ตามโดยมีภาษาไทยด้วย ถ้าข้อความในหลายภาษานั้นแตกต่างกัน และมิอาจหยั่งทราบเจตนาของคู่กรณีได้ว่าจะใช้ภาษาใดบังคับ ให้ถือตามภาษาไทย
การตีความสัญญา
มาตรา 368  สัญญานั้นท่านให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปรกติประเพณีด้วย
การตีความสัญญาเช่า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 439/2495 
การเช่าอาคารนั้นตามปกติวิสัย ก็ย่อมเป็นการเช่าอาคารทั้งหลังมิใช่ว่าการเช่าอาคารนั้น เป็นการเช่ากันเฉพาะส่วนภายในของอาคารเว้นแต่จะมีข้อสัญญาระบุไว้เป็นพิเศษ ฉะนั้นผู้ให้เช่าจึงไม่มีอำนาจที่จะเอาหลังคาตึกเช่านั้นไปให้ผู้อื่นเช่าติดป้ายโฆษณาอีกและถ้าขืนกระทำไป ผู้เช่าย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายและให้รื้อป้ายโฆษณานั้นไปได้
การตีความเกี่ยวกับการยกตึกบนที่ดินเป็นการตีความพินัยกรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1936/2526
ตามพินัยกรรม ข้อ 9 มีข้อความว่า 'ตึก 2 ชั้น1 หลัง 7 ห้อง ชั้นบนเป็นโรงแรมชายทะเล ชั้นล่างเป็นห้องแถวและเป็นทางขึ้นโรงแรมเสีย 1 ห้องให้ได้แก่....เท่านั้น' เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าตึกแถวสร้างเต็มเนื้อที่ดิน หากไม่ให้ที่ดินที่ตึกตั้งอยู่ตกแก่ผู้รับพินัยกรรมแล้วก็ต้องรื้อตึกทำให้ตึกไร้ค่าไป แสดงว่าเจ้ามรดกมีความประสงค์จะให้ตึกแถว 2 ชั้นนั้นตั้งอยู่ในที่ดินอย่างถาวรในลักษณะเป็นอสังหาริมทรัพย์ แม้ตามพินัยกรรม ข้อ 9 ดังกล่าวจะไม่กล่าวถึงที่ดินที่ตั้งตึก2ชั้นไว้ต้องถือว่าเจ้ามรดกมีเจตนายกที่ดินที่ตั้งของตึกให้แก่ผู้รับพินัยกรรมด้วย
การตีความเกี่ยวกับความรับผิดของผู้ค้ำประกันว่าจำกัดความรับผิดเฉพาะที่ชัดแจ้ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2832/2528
จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีภายในวงเงิน700,000 บาท จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจำนองเป็นประกันหนี้ราย นี้เป็นจำนวนเงิน 700,000บาทตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองระบุว่าเมื่อลูกหนี้ เบิกเงินเกินกว่ายอดเงินในบัญชีของ ลูกหนี้หรือลูกหนี้เป็นหนี้ผู้รับจำนอง อยู่ในเวลานี้หรือที่จะเป็นหนี้ต่อไปในภายหน้าฯลฯผู้จำนองและ หรือลูกหนี้ยอมรับผิดชอบด้วยทั้งสิ้นเมื่อมีการบังคับจำนองเอาทรัพย์สิน ซึ่งจำนองขายทอดตลาดได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระฯลฯ เงินยังขาดอยู่จำนวนเท่าใดผู้จำนองและหรือลูกหนี้ยอมรับผิดชอบรับใช้เงิน ที่ขาดให้แก่ผู้รับจำนองจนครบถ้วนและจำเลยที่ 2 ยังทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวจนกว่าธนาคารจะได้ รับและถึงแม้ ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ก็ตามอันทำให้ ธนาคารไม่ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนก็ดี ผู้ค้ำประกันยอมเข้ารับผิดร่วมกับ ลูกหนี้ในอันที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญานั้นทันทีตีความตาม สัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกันดังกล่าวได้ว่าจำเลยที่ 2 รับผิดชำระหนี้จำนวน 700,000 บาท รวมทั้งดอกเบี้ยด้วยเท่านั้น หาใช่ จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนไม่
การตีความเกี่ยวกับวันทำสัญญาประกันภัยว่าเริ่มต้นเมื่อใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6886/2542 
วัตถุประสงค์แห่งสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมมุ่งประสงค์ไปที่การประกันภัยรถยนต์คันที่โจทก์เป็นผู้เช่าซื้อตลอดระยะเวลาที่เช่าซื้อเป็นสำคัญยิ่งกว่าวันเริ่มต้นแห่งสัญญาประกันภัยที่พิมพ์เป็นตัวอักษรไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย แม้สัญญาเช่าซื้อจะระบุวันเริ่มต้นแห่งสัญญาหลังวันเริ่มต้นแห่งสัญญาประกันภัยเป็นเวลา 9 วันก็เป็นช่วงเวลาที่เหลื่อมกันเพียงเล็กน้อย การตีความวันทำสัญญาประกันภัยดังกล่าวย่อมต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 กรณีนี้จึงต้องตีความว่าสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยได้กระทำขึ้น ณ วันแรกที่โจทก์ มี ฐานะเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์คันที่โจทก์เอาประกันภัยไว้แก่จำเลย 
การตีความเกี่ยวกับเรื่องทางภาระจำยอมอนุญาตให้ใช้ทางมีความหมายเพียงใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 478/2544
จำเลยซื้อที่ดินจาก ท. เพื่อใช้ทำเป็นถนนเชื่อมหมู่บ้านจัดสรรในโครงการของจำเลย และได้ทำบันทึกต่อท้ายสัญญาจะซื้อขายที่ดินว่ายินยอมให้ ท. และที่ดินแปลงที่โจทก์ซื้อจาก ท. ใช้ทางได้ คำว่า"ให้ใช้ทาง" ตามสัญญาดังกล่าวย่อมหมายถึงการให้ใช้ทางได้เป็นปกติวิสัยทั่ว ๆ ไปซึ่งหากจำเลยทำทางขึ้นกว้างยาวเท่าใด คู่สัญญาก็ย่อมมีสิทธิใช้ได้ตามที่จำเลยทำขึ้น การที่จำเลยปิดกั้นทางเข้าออกสู่ที่ดินของโจทก์ให้เหลือเพียง 1 เมตร เพื่อมิให้โจทก์นำรถยนต์เข้าไปสู่ ที่ดินของตนได้ ย่อมเป็นการทำให้สิทธิการใช้ทางตามปกติวิสัยของ โจทก์ลดน้อยลงไม่สะดวกในการใช้ทางที่ทำขึ้นตามปกติวิสัยทั่ว ๆ ไป จึงเป็นการผิดสัญญา
 
 

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก