ตำรวจและตัวแทนลิขสิทธิ์จับคดีลิขสิทธิ์ ถูกต้องหรือไม่ ?
การจับกุมคดีลิขสิทธิ์ตามพรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เป็นเรื่องส่วนตัว เป็นความผิดอันยอมความได้ อยู่ดี ๆ ตำรวจจะเดินเข้าไปจับกุมคนละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น ซีดีเถื่อน , หนังสือเถื่อน ไม่ได้ เจ้าของลิขสิทธิ์จะต้องไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน และมอบคดีให้พนักงานสอบสวนก่อน
หลังจากนั้นตำรวจจึงจะเข้าจับกุมได้ ตัวแทนลิขสิทธิ์จะมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิด เช่น การล่อซื้อ ไม่สามารถทำได้ และถ้าล่อซื้อถือว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ไม่ใช่ผู้เสียหาย เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกามาหลายคดีแล้ว
การจับกุมหรือการค้นต้องมีหมายศาล จะทำแบบลุแก่อำนาจไ ม่ได้ ฟังข้อเท็จจริงจากข่าวที่ปรากฏ ซีเอ็ดยังไม่ได้กระทำความผิดแต่ไปจับกุม ถือว่าการจับกุมไม่ชอบ จะอ้างว่าเป็นความผิดล่วงหน้าไม่ได้ ความผิดล่วงหน้าหมายถึงกำละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ แต่ซีเอ็ดฯ เอาสินค้าที่ห้ามจำหน่ายวางกองรอคืน ไม่ถือว่ามีการกระทำความผิด ตำรวจเข้าไปจับกุมถือว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ทนายคลายทุกข์ยังมีความสงสัยว่าตำรวจมีผลประโยชน์ร่วมกับตัวแทนลิขสิทธิ์หรือไม่ ทำไมฟิตจัง คดีในท้องที่มีเยอะแยะไม่เห็นจับกุมเลย การกระทำแบบนี้เป็นห่วงภาพพจน์ของ สตช.จริง ๆ เลยครับ
การเข้าจับกุมและรีดไถเงินหรือตบทรัพย์ของตัวแทนลิขสิทธิ์ น่าจะหมดไปได้แล้ว เพราะเป็นการใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริต ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการต่อรองเรียกผลประโยชน์ ควรให้ศาลเป็นผู้ตัดสินจะดีกว่า
เนื้อหาข่าวจากหนังสือพิมพ์คมชัดลึกเพื่อประกอบการวิเคราะห์ข้อกฎหมาย
ซีเอ็ดโวยคนแอบอ้างเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์จับกุม-รีด
ผู้บริหารร้านซีเอ็ดโวย ถูกผู้รับมอบอำนาจเจ้าของเกม "นินเทนโด้" บุกจับ อ้างละเมิดลิขสิทธิ์ แต่กลับไกล่เกลี่ยเรียกเงินยุติดำเนินคดีครึ่งแสนแทน ทั้งที่สั่งห้ามจำหน่ายหนังสือแล้ว หวั่นถูกสวมรอยอ้างเป็นตัวแทนร่วมกับตำรวจตบทรัพย์ ขณะที่ตำรวจ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ยันเป็นตัวแทนจริง ไม่ฟันธงซีเอ็ดละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ยันมีสิทธิ์ฟ้องกลับได้
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กร บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ร้องเรียนผ่าน "คม ชัด ลึก" ว่า ร้านขายหนังสือของบริษัทซีเอ็ดฯ ไม่ได้รับความเป็นธรรม
เนื่องจากมีผู้แอบอ้างเป็นผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าของลิขสิทธิ์เกม นินเทนโด้ เข้าตรวจจับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่วางขายอยู่ในสาขาต่างๆ ของบริษัทซีเอ็ดฯ โดยเรียกเงินจำนวน 45,000-50,000 บาท เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ย แต่ทางบริษัทสงสัยว่าพฤติกรรมดังกล่าวอาจเป็นการแอบอ้างตัวมารีดไถเงิน เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทขายสินค้าที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องทั้งหมด
นายวิโรจน์กล่าวว่า ร้านขายหนังสือสาขาต่างๆ ของบริษัทถูกการกระทำในลักษณะดังกล่าวมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ถูกจับกุมที่สาขาโลตัส ลาดพร้าว ผู้รับมอบอำนาจกล่าวหาว่าจำหน่ายสินค้าที่เป็นหนังสือและแผ่นซีดี วีซีดีเกมต่างๆ ที่เป็นลิขสิทธิ์ของนินเทนโด้ ถือว่าผิดกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์ หลังจากแฝงตัวในร้านและล่อซื้อ จากนั้นก็แสดงตัวพร้อมกับมีตำรวจอีก 4-5 นาย ต่อมาวันที่ 21 มีนาคม ถูกจับในลักษณะเดียวกันที่สาขาโลตัส พระนครศรีอยุธยา
ทั้งนี้ ทั้งสองครั้งที่ถูกจับกุมมีการเจรจาไกล่เกลี่ย และผู้รับมอบอำนาจเป็นผู้เสนอไกล่เกลี่ยเอง โดยเรียกเงินชดใช้ 45,000-50,000 บาท แต่ทางบริษัทไม่ได้จ่ายเอง เพราะทางสำนักพิมพ์มารับผิดชอบจ่ายให้ เนื่องจากข้อหาที่ถูกจับกุมคือ ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ หลังจากเกิดเหตุการณ์ทั้งสองครั้งขึ้น
ทางบริษัทได้สั่งระงับไม่ให้ขายสินค้าที่เป็นลิขสิทธิ์ของนินเทนโด้ทั้งหมดทุกสาขา พร้อมทั้งให้เก็บรวบรวมสินค้าดังกล่าวส่งคืนเจ้าของลิขสิทธิ์ เพื่อให้ตรวจสอบว่าสินค้าทั้งหมดที่เป็นลิขสิทธิ์ของนินเทนโด้ในร้านซีเอ็ด ละเมิดลิขสิทธิ์จริงหรือไม่ เพราะบริษัทจะขายสินค้าที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องเท่านั้น
"หลังเกิดเรื่องขึ้น ทางซีเอ็ดได้เก็บสินค้าที่เป็นลิขสิทธิ์ของนินเทนโด้ทั้งหมดมารวมที่เคาน์เตอร์ สั่งห้ามจำหน่าย รวมถึงการลบรายการสินค้าดังกล่าวออกจากฐานข้อมูล เป็นการยืนยันว่าจำหน่ายไม่ได้ และออกใบเสร็จให้ไม่ได้
แต่เมื่อวันที่ 25 มีนาคม มีนายธีรนิติ์ เจริญกิจวศิน อ้างว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทนินเทนโด้ ออฟ อเมริกา มาตรวจจับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ของนินเทนโด้ และได้ปฏิบัติแบบเดียวกับที่สาขาของซีเอ็ดถูกจับมาก่อนหน้านี้" นายวิโรจน์กล่าว
นายวิโรจน์ยอมรับว่า รู้สึกสงสัยการกระทำดังกล่าวว่า เป็นการมาแอบอ้างเพื่อรีดไถเงินหรือไม่ รวมถึงการหลอกใช้ตำรวจมาหากินด้วยวิธีนี้ หรืออาจจะรู้เห็นเป็นใจกันทั้งสองฝ่าย เพราะตนกลัวว่าผู้รับมอบอำนาจจะอ้างขึ้นมาลอยๆ แล้วจัดทำเอกสารใบรับมอบอำนาจมายืนยัน
แต่การจับกุมครั้งนี้ทางร้านซีเอ็ดไม่ได้ขายสินค้าดังกล่าวแต่อย่างใด เพียงแต่จัดวางรวมกันไว้ที่เคาน์เตอร์เพื่อรอส่งคืน ขณะเดียวกัน การจับกุมครั้งนี้ยังไม่มีหมายค้นหรือหมายจับ จากนั้นชุดจับกุมก็จัดการทำบันทึกจับกุมส่งไปที่ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ โดยมี พ.ต.ต.วรายุทธ พงษ์ตัน พนักงานสอบสวน (สบ 2) เป็นเจ้าของคดี
หลังจับกุมก็บอกว่ามีการไกล่เกลี่ยกันได้ แต่ทางร้านซีเอ็ดไม่มีความเชื่อมั่นในตัวผู้รับมอบอำนาจ อาจจะแอบอ้างมา จึงอยากจะตรวจสอบให้แน่ชัดก่อน อีกทั้งการจับกุมก็ไม่มีหมายค้น และไม่มีการทำผิดซึ่งหน้าด้วย จึงเห็นว่าน่าจะมีอะไรบางอย่างแอบแฝง
เมื่อสอบถามไปยัง พ.ต.ต.วรายุทธ ก็ชี้แจงว่า เบื้องต้นได้รับเรื่องดังกล่าวไว้และได้สอบปากคำฝ่ายผู้เสียหายคือ ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทนินเทนโด้ฯ แล้ว พบว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจจริง มีเอกสารยืนยันครบถ้วน ส่วนการเข้าจับกุมโดยไม่มีหมายค้นนั้น ถือว่าตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ประสานขอความร่วมมือกับตำรวจ และขอเข้าตรวจค้นซึ่งหน้า ก็พบสินค้าที่ผู้เสียหายกล่าวอ้างอยู่ในร้านจริง
แต่ยังไม่ได้ชี้ชัดว่าร้านซีเอ็ดเป็นผู้จำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ เพราะต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบ การสืบสวนสอบสวน รวมทั้งพยานหลักฐานต่างๆ ให้ครบถ้วน ส่วนบริษัทซีเอ็ดฯจะแจ้งความกลับเพื่อตรวจสอบว่าตัวผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าของลิขสิทธิ์เกมนินเทนโด้เป็นตัวจริงถูกต้องหรือไม่ก็สามารถกระทำได้ หากพบว่าผิดก็ว่ากันไปตามผิด ทุกอย่างอยู่ที่พยานหลักฐาน
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าวจาก http://www.komchadluek.net/