คดีต้องห้ามฎีกา ศาลอุทธรณ์แก้ไขมาก ไม่ต้องห้ามฎีกา|คดีต้องห้ามฎีกา ศาลอุทธรณ์แก้ไขมาก ไม่ต้องห้ามฎีกา

คดีต้องห้ามฎีกา ศาลอุทธรณ์แก้ไขมาก ไม่ต้องห้ามฎีกา

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

คดีต้องห้ามฎีกา ศาลอุทธรณ์แก้ไขมาก ไม่ต้องห้ามฎีกา

คดีต้องห้ามฎีกา ศาลอุทธรณ์แก้ไขมาก ไม่ต้องห้ามฎีกา

บทความวันที่ 2 ธ.ค. 2554, 00:00

มีผู้อ่านทั้งหมด 56739 ครั้ง


คดีต้องห้ามฎีกา ศาลอุทธรณ์แก้ไขมาก ไม่ต้องห้ามฎีกา



ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 218
ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี หรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับแต่โทษจำคุกไม่เกินห้าปีห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี ไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่นด้วยหรือไม่ ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

มาตรา 219  ในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดที่ว่ามานี้ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ข้อห้ามนี้มิให้ใช้แก่จำเลยในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 729/2533
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้จำคุก 4 เดือน ปรับ1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นจำคุก 2 เดือน ไม่รอการลงโทษจำคุกและไม่ปรับการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยเป็นไม่รอการลงโทษจำคุก นั้น เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย จึงไม่ต้องห้ามจำเลยฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 219 ที่แก้ไขใหม่.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2551/2533
ฎีกาโต้เถียงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยและให้รอการลงโทษไว้ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 80 และมาตรา 69ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี และศาลอุทธรณ์ลงโทษไม่เกินกำหนดนี้ โจทก์ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ที่แก้ไขแล้วส่วนความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 69 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี 8 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ลงโทษจำคุก 1 ปี 4 เดือน และให้รอการลงโทษไว้ แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี แต่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก กล่าวคือนอกจากแก้โทษจำคุกให้เบาลงแล้วยังให้รอการลงโทษไว้ด้วย จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5106/2538
ศาลอุทธรณ์ภาค2พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยเป็นไม่รอการลงโทษจำคุกให้นั้นเป็นการแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลยจึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา219 การที่จะให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งก่อนแล้วจึงพิจารณาพิพากษาคดีส่วนอาญาไม่มีกฎหมายบัญญัติบังคับไว้แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา42และ46มุ่งหมายที่จะให้ศาลมีพิจารณาคดีส่วนแพ่งรอฟังผลคดีส่วนอาญาก่อนแล้วจึงพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎในคดีส่วนอาญาฉะนั้นการที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาส่วนอาญาก่อนโดยไม่ฟังผลในคดีส่วนแพ่งจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ขอให้ศาลฎีกาพิจารณาคดีใหม่ไม่ปรากฎว่าจำเลยโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค2ในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2695/2548
ความผิดฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นพนัน ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ให้ปรับสถานเดียว 1,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เฉพาะโทษเป็นจำคุกสถานเดียวมีกำหนด 1 เดือน แต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังแทน เป็นกรณีแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย ไม่ต้องห้ามจำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219



แก้ไขมากแต่ไม่เพิ่มเติมโทษ ห้ามจำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1662/2535
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343,86 ให้จำคุก 2 ปี ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าการหลอกลวงของจำเลยมิได้มีลักษณะเป็นการประกาศโฆษณาแก่บุคคลทั่วไปพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341,86จำคุก 1 ปี 4 เดือน แม้เป็นการแก้ไขมากแต่จำคุกไม่เกิน 2 ปีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 โจทก์ฎีกาว่า พฤติการณ์ของจำเลยตามคำเบิกความของพยานโจทก์แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาประกาศโฆษณาแก่บุคคลทั่วไปแล้วฎีกาของโจทก์เท่ากับโต้เถียงว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่าจำเลยมิได้ประกาศโฆษณาแก่บุคคลทั่วไปไม่ถูกต้องเป็นการโต้เถียงดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1211/2536
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 เดือนศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 เดือนและปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปีเป็นการแก้ไขมาก แต่ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับ 2,000 บาท และรอการลงโทษจำคุกไว้นั้น ไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษ จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219



แก้บทลงโทษและแก้โทษที่จะลงถือว่าเป็นการแก้ไขมากไม่ห้ามฎีกา
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1738/2528
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้มีดปลายแหลมแทงผู้เสียหายหลายทีโดยเจตนาฆ่าจำเลยลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลยเพียงแต่ได้รับบาดเจ็บสาหัสป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน และประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วันขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80,288,297 คำบรรยายฟ้องดังกล่าวยืนยันเจตนาในการกระทำผิดของจำเลยว่ามีเจตนาฆ่าผู้เสียหายแต่เพียงสถานเดียวส่วนที่บรรยายต่อมาว่าผู้เสียหายเพียงแต่ได้รับอันตรายแก่กายสาหัสนั้น เป็นแต่เพียงผลที่เกิดจากความผิดฐานเจตนาฆ่าผู้เสียหายเท่านั้นแม้โจทก์จะอ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 มาในคำขอท้ายฟ้องด้วยก็เป็นการขอตามผลที่เกิดจากการกระทำผิดของจำเลยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความผิดตามที่โจทก์บรรยายยืนยันมาแล้วเท่านั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,80, 78 จำคุก 6 ปี 8 เดือนศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297,78 จำคุก2 ปีเป็นการพิพากษาแก้ทั้งบทและแก้ทั้งโทษ จึงเป็นการแก้ไขมากโจทก์ย่อมมีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยใช้มีดปลายแหลม 2 คม เฉพาะตัวมีดยาว 17 เซนติเมตรกว้าง 2 เซนติเมตรแทงผู้เสียหายครั้งแรกถูกที่โคนแขนซ้ายเพราะผู้เสียหายเอี้ยวหลบทันเป็นการแทงในระดับทรวงอกที่มีอวัยวะส่วนสำคัญของร่างกายเมื่อผู้เสียหายวิ่งหนีจำเลยยังวิ่งไล่ตามและแทงซ้ำอีกที่ด้านหลังถูกบริเวณเอวจนคมมีดทะลุลำไส้ใหญ่แสดงว่าเป็นการแทงโดยแรงผู้เสียหายต้องวิ่งหนีและร้องเรียกให้คนช่วย จำเลยจึงได้หลบหนีไปแพทย์ผู้ตรวจเบิกความว่าบาดแผลของผู้เสียหายหากรักษาไม่ทันท่วงทีอาจถึงแก่ความตายได้และจะต้องใช้เวลารักษาประมาณ 60 วันพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยแทงผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4788/2538
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่2มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา290วรรคแรกจำคุก4ปีศาลอุทธรณ์ภาค3พิพากษาแก้ว่าจำเลยที่2มีความผิดตามมาตรา288อีกบทหนึ่งให้ลงโทษตามมาตรา288ซึ่งเป็นบทหนักจำคุก20ปีโดยแก้ไขทั้งบทและโทษเป็นการแก้ไขมากจึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่2ฐานร่วมกับพวกฆ่าผู้ตายโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา288,83ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยที่2กับพวกทำร้ายผู้ตายโดยไม่มีเจตนาฆ่าจึงลงโทษตามมาตรา290วรรคแรกหากศาลอุทธรณ์ภาค3ฟังว่าจำเลยที่2ทำร้ายผู้ตายโดยมีเจตนาฆ่าก็ต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา288,83ตามฟ้องเพียงบทเดียวจะพิพากษาว่าจำเลยที่2มีความผิดตามมาตรา288,83อีกบทหนึ่งและลงโทษตามบทนี้ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดไม่ได้และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้



แก้บทความผิดตามกฎหมายเดิมให้ถูกต้อง  แต่มิได้แก้ไขฐานความผิด  แม้จะแก้โทษด้วยถือว่าแก้ไขเล็กน้อย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8082/2548
แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้งบทความผิดและโทษจำคุกที่ลงแก่จำเลย แต่การแก้ไขบทความผิดก็เป็นเพียงการปรับบทความผิดตามกฎหมายเดิมให้ถูกต้องโดยระบุเป็นข้อความที่ถูกต้องไว้ภายในวงเล็บ แต่มิได้แก้ไขฐานความผิดแต่อย่างใด ถือเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกิน 5 ปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุก เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว

 


แก้จากไม่บรรดาลโทสะเป็นบันดาลโทสะ  ถือว่าแก้ไขมากไม่ต้องห้ามฎีกา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3874/2529
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 จำคุก 15 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,72 จำคุก 3 ปี เป็นการแก้ทั้งบทกฎหมายและกำหนดโทษที่ลงโทษจำเลย เป็นการแก้ไขมาก คู่ความไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
จำเลยกับผู้ตายเป็นสามีภรรยากันมาประมาณ 7 ปีมีบุตรด้วยกัน 3 คนและมีปากเสียงทะเลาะกันเสมอ ๆ ขณะก่อนเกิดเหตุจำเลยกับผู้ตาย ก็มีปากเสียงทะเลาะกันอีก การที่ผู้ตายบ่นว่ากล่าวหาจำเลยพาชายชู้ มานอนที่เตียงนอนและไล่จำเลยออกจากบ้าน ทั้งขู่ว่าหากจำเลยไม่ไป จากบ้านจะฆ่าจำเลยนั้น ก็เป็นเรื่องสามีภรรยาเป็นปากเสียงทะเลาะกัน ตามปกติที่เคยเป็นมา จะถือว่าจำเลยถูกกดขี่ข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมหาได้ไม่ จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงมิใช่เหตุบันดาลโทสะ




แก้จากป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ เป็นบันดาลโทสะ ถือว่าเป็นการแก้ไขมาก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1714/2515

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าเพื่อป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,80,60,68,69 ให้จำคุก 3 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่า โดยบันดาลโทสะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,80,60, และ 72 ให้จำคุก 2 ปี เช่นนี้ เป็นการพิพากษาแก้มาก ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 17/2515)
 



แก้จากพยายามกระทำความผิดระหว่าง ป.อ.มาตรา 80,81 และแก้โทษที่จะลงถือว่า เป็นการแก้ไขมาก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1737/2516
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 81, 288, 83 ประกอบด้วยมาตรา 53 (2)ลดมาตราส่วนโทษลงกึ่งหนึ่งตามมาตรา 75 และลดโทษตามมาตรา 78 ให้อีกกึ่งหนึ่งแล้ว จำคุก 3 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 288, 83 ประกอบด้วยมาตรา 53(1)ลดมาตราส่วนโทษลงกึ่งหนึ่งตามมาตรา 75 และลดโทษตามมาตรา 78ให้อีกกึ่งหนึ่งแล้ว จำคุก 4 ปี ดังนี้ เป็นการพิพากษาแก้ทั้งบททั้งโทษ จึงเป็นการแก้ไขมาก ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 และ 220 ใช้ปืนแก๊ปยาวยิง 2 นัด ขณะผู้เสียหายเดินมาห่างจำเลย 4-5 วา กระสุนปืนถูกใบหน้า คือ ที่หน้าผาก 2 รู โดนจมูกและเข้าตาขวาตาขวาบอด ถูกยิงแล้วโลหิตไหลเต็มใบหน้าตามพฤติการณ์แสดงชัดว่ากระสุนปืนเฉียดเฉียงไปไม่ถูกด้านตรง กระสุนปืนจึงไม่เจาะลึกเข้าไปภายในศีรษะและใบหน้า ผู้เสียหายจึงไม่ได้รับอันตรายถึงชีวิต ตามธรรมดาอาวุธปืนเป็นอาวุธที่ร้ายแรง ใช้ประหัตประหารกันให้ถึงแก่ความตายได้ง่าย และแน่นอนกว่าอาวุธอื่น จะสันนิษฐานว่าปืนที่จำเลยใช้ยิงไม่มีประสิทธิภาพเพราะผู้เสียหายถูกยิงในระยะใกล้ แต่ได้รับอันตรายเพียงบาดเจ็บไม่ถึงแก่ความตายหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 908/2520
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานมีวัตถุระเบิดไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 38,74 ให้จำคุก 2 ปี กระทงหนึ่ง และมีความผิดฐานพยายามฆ่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 80 ให้จำคุก 10 ปี อีกกระทงหนึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะความผิดฐานพยายามฆ่า เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 81 ให้จำคุก 4 ปี ดังนี้ ข้อหาฐานมีวัตถุระเบิดฯ ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ส่วนข้อหาฐานพยายามฆ่านั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก จำเลยจึงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าลูกระเบิดที่จำเลยขว้างผู้เสียหายนั้นเป็นลูกระเบิดชนิดรา้ยแรงเพียงใดหรือไม่ แต่ปรากฏบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับทั้ง ๆ ที่ผู้เสียหายอยู่ตรงจุดระเบิดนั้นเองว่า มีบาดแผลเพียง 4 แห่งคือ 1. บริเวณกกหูขวา หูขวา และใบหน้าแถบขวา แผลจุดแดงเล็ก ๆ ทั่วบริเวณและผิวหนังแดงพอง 2. บริเวณคอแถบขวาแผลยาว 1.5 เซนติเมตร2 แห่ง รอบแผลบวมแดง 3. สะบักขวาผิวหนังขาดกว้าง 4 เซนติเมตร ยวา 4 เซนติเมตร ลึก 0.5 เซนติเมตร รอบแผลบวมมาก และบริเวณเดียวกันมีแผลยาว 2 เซนติเมตร 3 แห่ง รอบ ๆ แผลมีจุดแดง ๆ เล็ก ๆ ทั่วไป ผิวหนังพอง 4. เนื้อไหม้เป็นวงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 นิ้วฟุต ผู้เสียหายรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 1 คืน รุ่งขึ้นแพทย์ก็ให้กลับบ้านได้ เพียงแต่ให้ไปรักษาบาดแผลที่โรงพยาบาลอีกเท่านั้น ดังนี้ แสดงว่าวัตถุระเบิดนั้นมีกำลังอ่อน ไม่อาจทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ แม้จำเลยมีเจตนาฆ่า แต่การกระทำของจำเลยไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำผิด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,81หาใช่มาตรา 288,80 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1316/2508
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277,80 จำคุก 2 ปี 8 เดือน แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 277,81 จำคุก 1 ปี และรอการลงโทษ ดังนี้ จึงเป็นการแก้ไขมาก โจทก์ย่อมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
จำเลยเรียกผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุ 4 ขวบ เข้าไปในห้องแล้วจำเลยปิดประตู บอกให้ผู้เสียหายไปนอน จำเลยได้ถอดกางเกงของผู้เสียหาย และถอดกางเกงของจำเลยออก บอกให้ผู้เสียหายนอนตะแคงตัวจำเลยก็นอนตะแคงหันหน้าเข้าหาผู้เสียหายและกอดผู้เสียหาย แล้วจำเลยเอาของลับทิ่มของลับของผู้เสียหาย 2 ครั้ง อวัยวะสืบพันธุ์ผู้เสียหายแคมใหญ่ด้านขวาบวมและมีรอยถลอกคือหนังกำพร้าขาดเล็กน้อยตรงแคมใหญ่ด้านซ้ายก็มีรอยถลอก เยื่อพรหมจารีปกติ ในช่องคลอดไม่มีเชื้ออสุจิ ตรวจพบว่ามีคราบน้ำอสุจิมนุษย์ติดอยู่ที่กางเกงของกลาง ดังนี้ ลักษณะการกระทำของจำเลยยังไม่อยู่ในวิสัยที่จะกระทำชำเราได้ และเห็นเจตนาว่าตั้งใจกระทำอนาจาร จึงผิดเพียงฐานกระทำอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเรา เมื่อทางพิจารณาปรากฏว่าการกระทำของจำเลยเป็นผิดเพียงฐานทำอนาจารซึ่งเป็นบทเบากว่า ศาลก็ย่อมลงโทษปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ (ตัดสินโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่19/2508)



แก้การพยายามกระทำความผิดเป็นการกระทำความผิดสำเร็จ  แต่ไม่แก้โทษ ถือเป็นการแก้ไขเล็กน้อย  ต้องห้ามฎีกา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2501/2516
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำการลักทรัพย์ยังไม่บรรลุผลเป็นเพียงขั้นพยายามลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(7),80ให้จำคุกจำเลย 2 ปี 8 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดสำเร็จแล้วไม่ใช่พยายามกระทำผิด แต่คงให้จำคุกเท่าเดิม การที่ศาลอุทธรณ์เพียงแต่พิพากษาแก้ในปัญหาเรื่องขั้นของการกระทำผิดว่ายังอยู่ในขั้นพยายามหรือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้วโดยไม่ได้แก้โทษเช่นนี้ เป็นการแก้ไขเล็กน้อย จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218
 


การแก้โดยลดมาตราส่วนโทษ  ให้ถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อย
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 796 - 797/2518
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราให้จำคุก 10 ปี ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงอย่างเดียวกับศาลชั้นต้นแต่เห็นว่าจำเลยอายุ 16 ปี พิพากษาแก้โดยลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ให้จำคุก 5 ปี ดังนี้ เป็นการแก้ไขเล็กน้อย ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4540/2539
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยทั้งสองฐานพยายามฆ่าคนละ10ปีฐานมีอาวุธปืนคนละ2ปีฐานพาอาวุธปืนคนละ2ปีศาลอุทธรณ์ภาค2พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่1อายุ18ปีและจำเลยที่2อายุ17ปีให้ลดมาตราส่วนโทษของจำเลยทั้งสองลงกึ่งหนึ่งฐานพยายามฆ่าจำคุกคนละ5ปีฐานมีอาวุธปืนคนละ3เดือนฐานพาอาวุธปืนคนละ6เดือนเป็นเรื่องที่ศาลอุทธรณ์ภาค2แก้โทษจำเลยทั้งสองโดยลดมาตราส่วนโทษให้เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกกระทงละไม่เกิน5ปีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา218วรรคแรก
 


แก้การเพิ่มโทษตาม ป.อ.มาตรา 92,92  ถือเป็นการแก้ไขเล็กน้อยหรือแก้ไขมากมีแนวฎีกาทั้งสองทาง
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 396/2512
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดให้จำคุกจำเลย 3 ปี เพิ่มโทษ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 จำคุก 4 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำคุกจำเลย 3 ปี ไม่เพิ่มโทษลดให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปีและแก้ว่า จำเลยไม่ต้องคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ให้แก่ผู้เสียหาย คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เพียงแต่แก้ไขข้อที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลย และไม่ต้องคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายเท่านั้นไม่ใช่เป็นการแก้บทเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยคู่ความจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3427/2527
ศาลอุทธรณ์เพียงแต่แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้เพิ่มโทษจำเลยเป็นไม่เพิ่มโทษ ไม่เป็นการแก้บทความผิด จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันให้ลงโทษจำเลยในข้อหามีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งเฮโรอีนกระทงหนึ่ง จำคุก 5 ปี และจำหน่ายเฮโรอีนอีกกระทงหนึ่งจำคุก 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2220/2547
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม, 277 วรรคแรก เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 5 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 9 ปี เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 รวมจำคุก 12 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องคงลงโทษจำคุกจำเลยรวม 2 กระทงเช่นเดิม เพียงแต่ให้ยกคำขอที่ให้เพิ่มโทษ โจทก์มิได้ฎีกาในข้อที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่เพิ่มโทษ จึงมีผลเท่ากับว่าศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในเรื่องไม่เพิ่มโทษซึ่งเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาว่าไม่ได้กระทำผิดทั้งสองฐานความผิดจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2820/2550
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 278 วรรคแรก, 310 วรรคแรก, 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 92 ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 1 ปี 4 เดือน ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร จำคุก 8 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 ปี 8 เดือน การที่ศาลชั้นต้นอ้างบทเพิ่มโทษตาม ป.อ. มาตรา 92 ในคำพิพากษาจึงเป็นกรณีศาลชั้นต้นได้เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามแล้ว เพียงแต่ศาลชั้นต้นไม่ได้ระบุข้อความว่าให้เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามซึ่งเป็นเพียงการไม่สมบูรณ์ชัดเจนเท่านั้น หาทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยเหตุที่ยังมิได้เพิ่มโทษจำเลยดังที่โจทก์ขอมาแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์เพิ่มโทษจำเลยอีกจึงเป็นการไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ดีที่ถูกศาลชั้นต้นต้องกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยในแต่ละฐานความผิดเสียก่อน แล้วจึงเพิ่มโทษจำเลยแต่ละฐานความผิดหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 54
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้เพิ่มเติมโทษจำเลยอีกหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และยังคงลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษอันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง



ลดโทษให้เพราะมีเหตุบรรเทาโทษ เป็นการแก้ไขเล็กน้อย
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 929/2534
ผู้ตายเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลย ไม่ดำเนินการย้ายจำเลยกลับมาทำงานตำแหน่งพนักงานขับรถตามที่จำเลยขอร้อง กลับนำบันทึกขอความเป็นธรรมของจำเลยมาเขียนว่า ให้ปฏิบัติตามคำสั่งกรมการแพทย์ที่สั่งให้จำเลยไปทำหน้าที่คนกลั่นน้ำ ดังนี้ เป็นการที่ผู้ตายปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ มิใช่การข่มเหงจำเลยด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมจำเลยจะนำมาอ้างเพื่อกระทำต่อผู้ตายโดยอาศัยเหตุบันดาลโทสะไม่ได้ จำเลยไม่พอใจผู้ตายที่ไม่ดำเนินการย้ายจำเลยให้กลับมาทำงานตำแหน่งพนักงานขับรถที่จำเลยเคยทำอยู่ จึงกลับไปเอาอาวุธปืนที่บ้านซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำงาน 13-14 กิโลเมตร มายิงผู้ตายจำเลยมีระยะเวลานานพอสมควรที่จะทบทวนยับยั้งความคิดพยาบาทอาฆาตแค้นผู้ตาย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตายตามที่ได้เตรียมการมา จึงเป็นการฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 วางโทษประหารชีวิต ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกตลอดชีวิต เป็นการแก้ไขเล็กน้อย ห้ามโจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคสองพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 11

แก้วรรคในมาตราเดียวกัน  แต่ละวรรคอาจมีโทษ 5 ปี 10 ปี ถึงจำคุกตลอดชีวิต จะถือว่าแก้ไขมากหรือน้อย ต้องดูเป็นกรณีไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2220/2527
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 วรรคสอง ลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตาม มาตรา 78 แล้วจำคุก 5 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก ลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามมาตรา 78 แล้วคงจำคุก 2 ปีดังนี้ ถือว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากไม่ต้องห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2527)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4451/2542
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 6 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษา แก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก เป็นการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จาก ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้น ถึงแก่ความตายโดยประกอบด้วยเหตุฉกรรจ์คือกระทำโดยทรมาน และทารุณโหดร้ายมาเป็นความผิดฐานเดิมโดยไม่ประกอบด้วย เหตุฉกรรจ์ และแก้โทษที่ลงจาก 6 ปี เป็น 5 ปี จึงเป็นกรณี ที่ศาลอุทธรณ์แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำเลยจำคุกไม่เกิน ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8524/2544
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม ลงโทษจำคุก 25 ปีศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 7 ปีจึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้จากความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยประกอบด้วยเหตุฉกรรจ์คือขณะกระทำผิดจำเลยมีมีดเป็นอาวุธเป็นความผิดฐานเดิมโดยไม่ประกอบด้วยเหตุฉกรรจ์คือขณะกระทำผิดจำเลยไม่มีอาวุธทั้งความผิดทั้งสองวรรคต่างก็เป็นความผิดอันยอมความกันไม่ได้จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี คดีต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7511/2547
การที่จะถือว่าเป็นการแก้ไขมากตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง นั้น จะต้องเป็นการแก้ทั้งบทลงโทษและจำนวนโทษที่ลง ซึ่งการแก้บทลงโทษนั้นมีความหมายถึงการเปลี่ยนบทลงโทษจากบทหนึ่งไปเป็นอีกบทหนึ่ง หรือเป็นการแก้วรรคในบทเดิม ซึ่งความผิดแต่ละวรรคมีโทษขั้นต่ำและขั้นสูงแตกต่างกันมาก และลักษณะความผิดในแต่วรรคนั้นแตกต่างกัน เช่น ความผิดในวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้และอีกวรรคหนึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน เป็นต้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) เป็นเพียงการบังคับใช้กฎหมายเดิมและกฎหมายใหม่ในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 บัญญัติไว้เท่านั้น จึงไม่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์แก้บทลงโทษ ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์เพียงแต่แก้จำนวนโทษ มิได้แก้บทลงโทษจึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย ให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
 


ศาลชั้นต้นลงโทษปรับ 1,000 บาท อุทธรณ์ลดโทษจำคุก 1 เดือน และเป็นโทษจำคุกเป็นกักขังแทนเป็นการการแก้ไขมาก ไม่ต้องห้ามฎีกา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2695/2548
ความผิดฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นพนัน ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ให้ปรับสถานเดียว 1,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เฉพาะโทษเป็นจำคุกสถานเดียวมีกำหนด 1 เดือน แต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังแทน เป็นกรณีแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย ไม่ต้องห้ามจำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 6

 สวัสดีค่ะ.คือลูกชาย โดนจับข้อหาคดียาเสพติด อยากรู้ว่า ศาลอุทธรณ์ให้ไหมคะ

โดยคุณ เพ็ญ 24 ส.ค. 2559, 16:10

ความคิดเห็นที่ 5

อาจารย์ครับ ประเด็นมีอยู่ว่า 

โจทก์ฟ้องจำเลยตาม ป.อ.มาตรา276วรรค3 ศาลชั้นต้นพิพากษาเป็น276วรรค1 ลงโทษจำคุกจำเลย4ปี โจทก์ยื้นอุทธรณ์ขอให้ลง276วรรค3ตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก4ปี โจทก์ยื้นขอฏีกาขอให้ลง276 ว.3 และจำเลยฏีกาขอยกฟ้องโจทก์ ดั้งนี้ ถามว่าหากท่านเป็นศาลจะรับฟ้องคดีนี้หรือไม่เพราะเหตูใด

โดยคุณ อภิสิทธิ์ บุนนาค 4 ก.ค. 2558, 21:30

ความคิดเห็นที่ 4

 ดีครับ

โดยคุณ ตระกูล โพธิ์เรือง 16 มิ.ย. 2557, 21:24

ความคิดเห็นที่ 3

 แฟนผมศาลต้นตัดสินจำคุก4ปีปรับ4แสน ศาสอุทรตัดสินจำคุกเหลือ3ปีปรับ3แสนบาทสามารถฏีกาได้รึป่าวครับเพราะแฟนผมไม่ได้ทำตอนนี้ร้อนใจมากๆๆคับ ช่วยตอบผมด้วยนะครับ ขอบพระคุณมากๆๆคับ

โดยคุณ ระวิกร 26 ส.ค. 2556, 17:45

ความคิดเห็นที่ 2

 ขุมคลังหรือแหล่งทรัพยากรของความรู้ทางด้านกฏหมายที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง ชอบมาก ๆๆๆๆๆๆๆ

โดยคุณ พรพิมล ศิลาอ่อน 7 พ.ย. 2555, 12:32

ความคิดเห็นที่ 1

มีประโยชน์มากอยู่

โดยคุณ 21 ธ.ค. 2554, 11:33

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก