หลอกลวงเงิน/ฉ้อโกงหรือให้โดยเสน่หา
เพื่อนหญิงของกระผมได้กระทำการยืมเงินไปทั้งหมด 60,000 บาท โดยการคุยทางโทรศัพท์มิได้มีการทำสัญญาเป็นลายลักษ์อักษรแต่อย่างใด เพราะว่าความเชื่อและไว้ใจ เธอโดยปราศจากความเสน่หา โดยที่รู้จักกับเธอมา 3-4 ปีแล้ว ครั้งแรกเธออ้างว่า เธอต้องการเงิน 8,500 บาท สำหรับค่าลงทะเบียนเรียนต่อ 1 เทอม ยืมไป 6 ครั้ง ครั้งที่สองเธออ้างว่า ต้องการเงินไปช่วยเพื่อนซึ่งเงินไม่พอจ่ายค่าลงทะเบียน 5,000 บาท จะทวงคืนเงินให้ภายหลัง ทุกครั้งก่อนที่จะโอนเงินให้ไปได้มีการสอบถามถึงการคืนเงินที่ได้ยืมไป เธอได้แต่บอกว่ายังไม่มีและกำลังขอจากแม่มาใช้คืนให้เร็วๆ นี้ แต่ตอนนี้แม่ยังไม่มี จนวันหนึ่งความจริงก็ปรากฎออกมาว่า เธอนำเงินที่กระผมโอนให้ไปเที่ยวเตร่กลางคืนและซื้อยาเสพติดจนหมด เธอยังได้มีเจตนาปกปิดที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ที่ใช้ปัจจุบันเพื่อมิให้กระผมตามหาตัวเธอและอื่นๆ อีกมากมายเพื่อใช้มาประกอบการหลอกลวงครั้งนี้ให้มีความน่าเชื่อถือและน้ำหนักมากขึ้น และเรื่องของเหตุผลการขอยืมและคืนเงินนั้นเป็นเรื่องโกหกทั้งสิ้น เธอสารภาพหลังจากการติดตามหาตัวเธอ เธอบอกกระผมว่าถ้าอยากจะได้เงินคืนก็ต้องแจ้งความ หรือฟ้องศาลแพ่งเอง เพราะไม่มีสัญญากู้ยืมเป็นหลักฐาน และไม่สามารถดำเนินคดีทางกฎหมายกับเธอได้จากการโกหก เธอจึงเป็นผู้บริสุทธ์ ไม่จำเป็นต้องคืนเงินแม้แต่บาทเดียว
คำแนะนำสำนักงานทนายความ ทนายคลายทุกข์
การกระทำของหญิงดังกล่าวที่ให้ท่านโอนเงินให้แก่ตนเพื่อชำระค่าลงทะเบียนเรียนและช่วยเหลือเพื่อน ทั้งๆ ที่ไม่มีการกระทำดังนั้นจริง อันเป็นการหลอกลวงท่านด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ โดยที่ตนไม่มีเจตนาที่จะคืนให้แก่ท่าน ทั้งที่ท่านก็ไม่ได้โอนมอบให้โดยเสน่หา การกระทำของหญิงคนนี้ เป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นอันกระทำโดยทุจริต และการหลอกลวงดังนั้นได้ไปซึ่งเงินอันเป็นทรัพย์สินจากท่านผู้ถูกหลอกลวงเข้าองค์ประกอบความผิดอาญาฐานฉ้อโกง ตาม ป.อ.มาตรา 341 ดังนั้น ท่านในฐานะผู้เสียหายชอบที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีแก่หญิงคนนี้ต่อศาลให้ลงโทษตามกฎหมายและเรียกชดใช้เงินคืนต่อไป