ตัวอย่างคดีขาดอายุความทางอาญาแล้ว|ตัวอย่างคดีขาดอายุความทางอาญาแล้ว

ตัวอย่างคดีขาดอายุความทางอาญาแล้ว

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

ตัวอย่างคดีขาดอายุความทางอาญาแล้ว

ตัวอย่างคดีขาดอายุความทางอาญาแล้ว

บทความวันที่ 17 พ.ค. 2555, 00:00

มีผู้อ่านทั้งหมด 35035 ครั้ง


ตัวอย่างคดีขาดอายุความทางอาญาแล้ว



1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 261/2552
           ความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าตาม ป.อ. มาตรา 393 ขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 แม้ความผิดฐานดังกล่าวจะยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ปัญหาเรื่องสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปหรือไม่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มรตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้ฎีกาได้เพราะเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4926/2552
           ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 11, 43 (4), 148, 157 และ พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง, 60 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 เดือนลงมา จึงมีอายุความเพียง 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) คดีนี้เหตุเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2535 นับถึงวันฟ้องวันที่ 19 ตุลาคม 2539 ความผิดตามบทมาตราดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)

3.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3002/2552
           แม้ที่ดินที่เกิดเหตุจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอันเป็นที่ดินของรัฐ แต่การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และเป็นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ มิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (1) (2) ดังนั้น ผู้เข้าไปยึดถือครอบครองอาจมีความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362, 365 แต่ความผิดฐานบุกรุกเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วในทันทีที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุ ส่วนการที่จำเลยยึดถือครอบครองต่อมาเป็นเพียงผลของการบุกรุกเท่านั้น ไม่ใช่เป็นความผิดต่อเนื่องตราบเท่าที่จำเลยยังคงยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุแต่อย่างใด ซึ่งความผิดตามมาตรา 365 มีกำหนดอายุความ 10 ปี และตามมาตรา 362 มีกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) และ (4) เมื่อฟังได้ว่าจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุมาตั้งแต่ก่อนวันที่ 4 มีนาคม 2515 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2546 เกินกว่า 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิดจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)

4.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3461/2552
           ความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคารฯ มาตรา 21 มาตรา 65 วรรคหนึ่งและวรรคสอง มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท ความผิดดังกล่าวจึงมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (4) โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2549 จึงเกินกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยกระทำความผิดคดีสำหรับความผิดฐานดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) และต้องยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดดังกล่าวเสียตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

5.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2191/2551
           จำเลยชักชวนโจทก์ร่วมให้ลงทุนทำธุรกิจกับจำเลย โดยอ้างว่าจะนำเงินไปลงทุนเป็นค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่ของโรงแรมเพื่อจัดแสดงสินค้าหัตถกรรมไทยให้ชาวต่างประเทศมาซื้อและนำไปทำกล่องปากกาย่านลิเภาส่งให้บริษัท ก. พร้อมกับนำหลักฐานการติดต่อโรงแรมและบริษัท ก. มาให้ดู โจทก์ร่วมจึงโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยรวม 13 ครั้ง จากนั้นโจทก์ร่วมก็ไม่เห็นว่าจำเลยจะดำเนินการใดๆ และคอยติดตามทวงถามจำเลยว่าดำเนินการเกี่ยวกับธุรกิจไปมากน้อยเพียงใด จำเลยบ่ายเบี่ยงว่ากำลังติดต่ออยู่และยังดำเนินการไม่เสร็จ โจทก์ร่วมจึงทวงเงินคืน แต่แทนที่จำเลยจะคืนเงินกลับสั่งจ่ายเช็คให้โจทก์ร่วมสองฉบับ ซึ่งนับแต่วันที่ 28 เมษายน 2543 อันเป็นวันที่โจทก์ร่วมโอนเงินให้จำเลยครั้งแรกถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2543 อันเป็นวันที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คฉบับแรกให้โจทก์ร่วมนั้นก็เป็นระยะเวลาหลายเดือน โจทก์ร่วมย่อมน่าจะรู้แต่นั้นแล้วว่าจำเลยหลอกลวงเอาเงินไปโดยมิได้ดำเนินการเกี่ยวกับธุรกิจตามที่ชักชวนไว้ ครั้นโจทก์ร่วมนำเช็คทั้งสองฉบับไปเรียกเก็บเงินธนาคารก็ปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ร่วมทวงถาม แต่จำเลยผัดผ่อนว่าจะนำเงินสดมาชำระคืนและขอให้โจทก์ร่วมไม่ดำเนินคดีตามกฎหมายอีก จึงเป็นพฤติการณ์ที่มาสนับสนุนให้โจทก์ร่วมรู้แน่ชัดยิ่งขึ้นอีกว่าถูกจำเลยหลอกลวงแล้ว การที่จำเลยผัดผ่อนว่าจะนำเงินสดมาชำระคืนและขอให้โจทก์ร่วมไม่ดำเนินคดีตามกฎหมายนั้นไม่เป็นผลลบล้างการรับรู้ของโจทก์ร่วมที่ถูกจำเลยหลอกลวง แต่วันที่โจทก์ร่วมไปทวงถามเงินคืนจากจำเลยไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเป็นวันใด จึงต้องถือเอาวันที่ 10 ตุลาคม 2543 อันเป็นวันที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คฉบับแรกให้โจทก์ร่วมเป็นวันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงโจทก์ร่วมแล้ว เมื่อโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยวันที่ 1 ตุลาคม 2544 จึงเกินกว่า 3 เดือน คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

6.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3920/2549
            โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องโดยขอแก้บทลงโทษจาก พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 40, 42, 65, 66, 70 ทวิ เป็นมาตรา 21, 40, 42, 65, 66 ทวิ, 70, 71 ซึ่งเป็นการแก้หรือเพิ่มเติมฐานความผิดก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคหนึ่ง, 164 เมื่อจำเลยไม่ค้านและศาลชั้นต้นอนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง จำเลยย่อมีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การได้ เมื่อจำเลยไม่ยื่นคำร้องดังกล่าว แสดงว่าจำเลยรับสารภาพโดยมิได้หลงต่อสู้ในฐานะความผิดที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องนั้น ศาลย่อมลงโทษจำเลยตามคำฟ้องที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมได้
           กฎหมายล้มละลายเพียงบัญญัติมิให้บุคคลที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินคดีในทางแพ่งด้วยตนเอง หรือก่อหนี้สินขึ้นอีกในระหว่างถูกพิทักษ์ทรัพย์ มิได้คุ้มครองให้ผู้กระทำผิดอาญาพ้นผิดไปด้วย ทั้งจำเลยกระทำความผิดก่อนจะถูกพิทักษ์ทรัพย์และไม่เกี่ยวข้องกับการถูกพิทักษ์ทรัพย์ในภายหลัง ศาลจึงพิพากษาลงโทษปรับจำเลยได้
           ความผิดฐานก่อสร้างดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 70 มีกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 120,000 บาท ความผิดดังกล่าวจึงมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (4) โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2544 จึงเกินกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ 12 กันยายน 2539 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยกระทำความผิด จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)

7.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1533/2548
           การฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนนั้น ผู้กระทำความผิดได้คิดไตร่ตรองทบทวนแล้วจึงตกลงใจกระทำความผิด หาใช่เป็นการกระทำในลักษณะปัจจุบันด่วนไม่ พฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองตะโกนให้ของลับแล้วเดินออกจาก ร้านอาหารไปโดยไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้เสียหายมาก่อน และไม่ปรากฏว่าหลังจากที่จำเลยทั้งสองออกจากร้านอาหารไปแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ตระเตรียมการเพื่อฆ่าผู้เสียหายมาก่อน การที่จำเลยที่ 1 กลับมาที่ร้านอาหารแล้วใช้อาวุธปืนยิงไปที่ผู้เสียหายในเวลาต่อเนื่องกันดังกล่าว จึงไม่พอที่จะรับฟังว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย โดยไตร่ตรองไว้ก่อน
           ข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 มีระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท มีอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 95 (5) จำเลยที่ 1 กระทำความผิดวันที่ 15 มิถุนายน 2537 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 4 พฤศจิกายน 2542 คดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดข้อหาดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้น วินิจฉัยเองได้.

8.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12559/2547
          เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค ส. ในวันที่ 6 กันยายน 2544 จำเลยซึ่งเป็นสมาชิกและกรรมการสาขาพรรค ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อนายทะเบียนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา 42 วรรคหนึ่ง คือ ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2544 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2544 เมื่อจำเลยไม่ยื่นภายในกำหนด จำเลยจึงกระทำผิดตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2544 ซึ่งตามมาตรา 84 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวกำหนด ให้ระวางโทษปรับสถานเดียว เมื่อจำเลยกระทำความผิดในวันที่ 7 ตุลาคม 2544 โจทก์ฟ้องจำเลยในวันที่ 30 ตุลาคม 2545 เกินกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดซึ่งขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 วรรคหนึ่ง (5) และความผิดดังกล่าวเป็นความผิดกรรมเดียวบทเดียว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา 84 ได้อีก ทั้งไม่ใช่เป็นความผิดต่อเนื่อง แม้ต่อมาจำเลยจะยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อนายทะเบียนเลยก็จะปรับจำเลยเป็นรายวันอีกไม่ได้ เพราะความผิดของจำเลยได้สิ้นสุดโดยขาดอายุความไปแล้ว และเมื่อโจทก์ไม่ได้ตัวจำเลยมาฟ้องภายใน 1 ปี จึงขาดอายุความฟ้องจำเลย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

9.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2546

          ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเกิดตั้งแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คคือวันที่ 8 มีนาคม 2543 เมื่อเป็นความผิดอันยอมความได้ซึ่งมีกำหนดให้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 และ 96 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 5 กันยายน 2543 โดยมิได้ร้องทุกข์ไว้ จึงขาดอายุความ
            ประมวลกฎหมายอาญาภาค 1 ลักษณะ 1 หมวด 9 บัญญัติเรื่องอายุความคดีอาญาไว้โดยเฉพาะแล้ว มิได้มีบทบัญญัติเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงหรือเลิกนับอายุความร้องทุกข์อันจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับ แม้โจทก์จะได้ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงดุสิตภายในกำหนดอายุความ แต่คดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลแขวงดุสิตและศาลแขวงดุสิตได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ไปแล้ว การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องศาลแขวงพระนครใต้อีกเมื่อพ้นกำหนดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(6)

10.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10523/2551
           ป.อ. มาตรา 95 วรรคแรก บัญญัติว่า "ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ" ซึ่งหมายความว่า เมื่อฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้วอายุความจึงหยุดนับ คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2547 ความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควรตาม ป.อ. มาตรา 371 มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 100 บาท จึงมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) โจทก์นำจำเลยมาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2547 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 580/2549 ของศาลชั้นต้น ซึ่งอยู่ภายในเวลา 1 ปี นับแต่วันกระทำความผิด อายุความจึงหยุดนับ เมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ และโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ภายในกำหนดตามคำสั่งของศาลชั้นต้นในวันที่ 26 เมษายน 2549 คดีโจทก์สำหรับความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควรจึงไม่ขาดอายุความ

11.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7986/2540
           ความหมายของข้อความที่ว่า ศิษย์ ซึ่งอยู่ในความดูแลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 285 นั้น มิได้หมายถึงเฉพาะผู้ที่มีความสัมพันธ์ในฐานะครูหรืออาจารย์ซึ่งมีหน้าที่สอนหรือเคยสอนศิษย์ เท่านั้น แต่ครูหรืออาจารย์นั้นต้องมีหน้าที่ควบคุมดูแลปกป้องรักษาตัวศิษย์ และกระทำความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติต่อศิษย์ ในระหว่างมีหน้าที่ดังกล่าวด้วย เมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่มีหน้าที่ดังกล่าวในขณะเกิดเหตุ เพราะเหตุเกิดที่บ้านพ.และอยู่นอกเวลาควบคุมดูแลของจำเลย การกระทำของจำเลยก็มิใช่กระทำต่อศิษย์ ซึ่งอยู่ในความดูแล ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า ผู้เสียหายเป็นผู้อยู่ในความควบคุมของจำเลยตามหน้าที่ราชการ เมื่อเป็นข้อที่มิได้กล่าวในฟ้องจึงเป็นเรื่องนอกฟ้อง ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นมาว่ากันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

12.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2440/2523
           โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงโดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยร่วมกันหลอกลวงเอาโฉนดที่ดินของโจทก์ไปตั้งแต่ประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน 2494 ดังนี้ความผิดฐานฉ้อโกงโฉนดสำเร็จตั้งแต่จำเลยได้โฉนดจากโจทก์ไป แม้โจทก์จะได้บรรยายฟ้องต่อไปด้วยว่า เมื่อจำเลยได้โฉนดไปแล้วได้ร่วมกันให้จำเลยที่ 2 โอนรับมรดกและต่อมาจึงโอนใส่ชื่อของจำเลยที่ 1 ก็เห็นได้ว่าเป็นการบรรยายให้เห็นพฤติการณ์ไม่สุจริตของจำเลยเท่านั้น มิใช่ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดอีกกระทงหนึ่ง หรือเป็นการกระทำความผิดต่อเนื่องกับความผิดฐานฉ้อโกงดังกล่าวข้างต้น ความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี อายุความสำหรับความผิดตามมาตรานี้จึงมีเพียง 10 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(3) โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2522 เป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิด ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตราดังกล่าว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(6)

13.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2212/2515
           กำหนดเวลาที่ให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด มิฉะนั้นจะเป็นอันขาดอายุความนั้น เป็นบทบัญญัติสำหรับกรณีที่ผู้เสียหายจะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ฯลฯ แต่ถ้าผู้เสียหายไม่ร้องทุกข์เสียก่อน จะใช้สิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลด้วยตนเองก็ย่อมกระทำได้ภายในกำหนดระยะเวลาเดียวกัน แต่เมื่อวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาเป็นวันหยุด ซึ่งตามประเพณีงดเว้นการงาน ท่านให้นับวันที่เริ่มทำงานใหม่เข้าด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 161 ดังนั้น การที่ระยะเวลาที่ผู้เสียหายจะร้องทุกข์ในคดีนี้ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 24 อันเป็นวันหยุดราชการ ผู้เสียหายยื่นฟ้องคดีต่อศาลในวันที่ 25 ซึ่งเป็นวันเริ่มทำงานใหม่ ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 6

ผมอยากถามว่าคดีเกี่ยวขับรถประมาณมีอายุความขอคดีกี่ปีถึงจะไม่มีประวัติติดอยู่ที่กรมตำรวจครับ.     ตัวอย่างคดี  เรื่องเกิดขึ้นเมื่อปีพ. ศ. 2541 แล้วจะทางครอบครัวได้คุยกับคูากนณียอมชดใช้ค่าเสียหายทุกแล้วบุคคลที่ขับรถชนคนเสียเขาก็ไม่ได้หลบหนีเขาอยู่รักษาตัวที่บ้านจนหายดีผ่านไปประมาณเดือนกว่าเจ้าหน้าที่ก็ได้ไปรับตัวเขาที่บ้านมาที่สน. ที่พื้นที่เกิดเหตุและอยู่สน. 4วันเจ้าที่ก็ได้นำตัวไปที่ศาลที่จังหวัดแล้วศาลให้ไปอยู่ที่เรือนจำประจำจังหวัดแล้วก็อยู่ที่เรือนจำแค่4เพราะศาลท่านให้ตัวเพราะทางครอบครัวของผู้ก่อเหตุได้ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ความครัวขิงคู่กรณีและทางครอบครัวคู่ก้ิไม่ได้ติดใจความกับผู้ก่อเหตุศาลเลยมีคำสั่งปล่อยตัวครับแล้วแบบนี้ประวัติของผู้ก่อเหตุจะติดอยู่กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติกี่ปีครับ

โดยคุณ นายสุพิจต์ ศรีภิรมย์ 21 มิ.ย. 2560, 18:05

ตอบความคิดเห็นที่ 6

กรณีตามปัญหา  ท่านสามารถตรวจสอบประวัติอาชญากรรมได้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบข้อมูลคดีของท่านว่ายังมีอยู่ในสารบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่ 

โดยคุณ ทีมงานทนายคลายทุกข์ 21 ก.ค. 2560, 10:47

ความคิดเห็นที่ 5

 ถามเรื่องอายุความครับ จำเลยต้องคดีปลอมและใช้เอกสารปลอม และเป็นบุคคลที่ได้รับการประกันตัวต่อศาลอาญารัชดา(ศาลอนุญาติปล่อยตัวชั่วคราว)..(เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลแล้ว) ต่อมาอัยการเป็นโจทย์ยื่นฟ้องต่อศาลในคดีปลอมแปลงเอกสารอีก(ต่างกรรมต่างวาระกัน) โดยคดีใหม่นี้ อีก1เดือนจะหมดอายุความ ขณะที่โจทย์ยื่นฟ้องมิได้นำตัวจำเลยมาศาล เพราะรู้ว่าจำเลยอยู่ในอำนาจศาลอยู่แล้ว  ถามว่า กรณีที่โจทย์ยื่นฟ้องแบบมิได้นำตัวจำเลยมา( จำเลยหนีประกันในคดีแรก) อายุความของคดีที่ยื่นฟ้องใหม่จะหมดเมื่อไหร่...

โดยคุณ สรศักดิ์ 6 มี.ค. 2559, 22:41

ความคิดเห็นที่ 4

 เคยเล่นไฟ่แล้วถูกจับคดีมีอายุกี่ปีคะแล้วเ

โดยคุณ 3 เม.ย. 2558, 07:43

ความคิดเห็นที่ 3

 ดิฉันอยากทราบว่าอายุความของคดีลักทรัพย์กี่ปีคะ ที่ขโมยจะพ้นผิด โดยที่เราไม่สามารถจับเขาได้ คือดิฉันเคยแจ้งความว่ามี่คนที่เคยอาศัยอยู่เดียวกันขโมยเงินไป 7,000 บาท ประมาณปี 2549 ซึ่งปัจจุบันนี้ตำรวจยังไม่สามารถจับตัวขโมยได้เลยคะ รบกวนช่วยตอบด้วยนะคะ ขอบคุณคะ

โดยคุณ ศุภางค์ เตชะพิทักษ์ศาสน์ 28 ม.ค. 2557, 16:19

ความคิดเห็นที่ 2

 น่ากลัวจังเลยค่ะ

โดยคุณ So Mod 28 มิ.ย. 2555, 09:15

ความคิดเห็นที่ 1

ถ้าคดีร่วมกันทำร้ายร่างกาย ศาลชั้นต้น ตัดสิน สามเดือนไม่รอลง ศาลอุธรณ์ยืน ศาลฎีกาไม่รับแต่จำเลยไม่ได้ไปฟังฎีกา อย่างนี้อายุความกี่ปีครับ

โดยคุณ เอ 19 มิ.ย. 2555, 19:07

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก