สารพัดรูปแบบกลโกง
วันนี้ทนายคลายทุกข์ขอนำเรื่องสารพัดรูปแบบกลโกงมานำเสนอพี่น้องประชาชนนะครับ เพราะทุกวันนี้เศรษฐกิจตกต่ำทำมาหากินยาก คนว่างงาน คนออกจากคุกมาแล้วก่ออาชญากรรมซ้ำซาก ทำให้มีอาชญากรรมเกี่ยวกับเรื่องการคดโกงหลากหลายรูปแบบ พัฒนาไปเรื่อยๆ จนเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้เสียหายตามไม่ทัน ทนายคลายทุกข์จึงขอยกตัวอย่างคดีเกี่ยวกับสารพัดกลโกงที่เคยมีคดีขึ้นสู่ศาลดังต่อไปนี้ครับ
1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 471/2543 (หลอกขายทองปลอม)
ตอนจำเลยนำสร้อยข้อมือของกลางมาขายฝากผู้เสียหาย จำเลยบอกว่าเป็นสร้อยข้อมือที่จำเลยสั่งทำเองโดยมีน้ำหนักมากกว่าปกติเพราะอาจมีการชุบเคลือบหนาไว้ แสดงว่าสร้อยข้อมือดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของจำเลยมาโดยตลอด ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยจะไม่รู้ว่าสร้อยข้อมือนั้นเป็นทองคำปลอมและจำเลยพูดจาหว่านล้อมหลอกลวงจนผู้เสียหายหลงเชื่อได้เป็นผลสำเร็จต่อมาเมื่อปรากฏว่าสร้อยข้อมือของกลางเป็นทองคำปลอม จำเลยกลับต่อสู้ว่าสร้อยข้อมือเป็นของภริยาจำเลยและจำเลยไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นทองคำปลอมจึงเชื่อไม่ได้ส่วนการที่จำเลยใช้ชื่อตัวและชื่อสกุลตามความเป็นจริงในใบสัญญาขายฝาก หรือยอมให้ตรวจสอบสร้อยข้อมือในชั้นขายขาดโดยวิธีลนไฟนั้น เป็นเรื่องตามปกติวิสัยของผู้ที่มีเจตนาทุจริตที่ยอมกระทำทุกสิ่งทุกอย่างเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์อันมิชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองโดยไม่คำนึงถึงผลร้ายอันจะเกิดขึ้นภายหลังว่าจะเป็นประการใด ทั้งการที่จำเลยยินยอมจ่ายเงิน 30,000 บาท แก่ผู้เสียหายโดยมีบุคคลทำหนังสือค้ำประกันเพื่อไม่เอาความแก่กันย่อมเป็นเหตุผลที่สนับสนุนว่าจำเลยกระทำความผิดเป็นอย่างดี พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกง
2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5683/2541 (หลอกมาขอรับเงินแทนคนอื่น)
จำเลยได้มาหลอกลวงขอรับชำระหนี้เงินกู้จำนวน200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่โจทก์กู้เงินจาก ค. จากโจทก์ โดยจำเลยอ้างว่ารับแทน ค. และโจทก์หลงเชื่อได้มอบเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 216,000 บาท ให้จำเลยไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นการหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จโดยเจตนาทุจริตเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5255/2540 (หลอกกู้เงิน)
สัญญากู้ที่จำเลยทำให้ไว้แก่โจทก์ร่วมนั้น จำเลยทำในนามของ ป. ซึ่งไม่มีตัวจริง ทั้งเช็คที่จำเลยนำมาแลกจำเลยยืมของบุคคลอื่นมาเป็นเช็คที่ปิดบัญชีแล้ว ลายมือชื่อที่จำเลยลงในเช็คก็ใช้ภาษาจีนไม่เป็นไปตามตัวอย่างที่ให้ไว้กับธนาคารเช็คที่ใช้แลกเงินจากโจทก์ร่วมไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ การหลอกลวงเอาเงินจากโจทก์ร่วมโดยทำหลักฐานการกู้หรือมอบเช็คให้โจทก์ร่วมดังกล่าวก็เป็นการหลอกลวงเพื่อให้ได้เงินนั่งเอง จำเลยมิได้มีเจตนาจะผูกพันตามสัญญากู้ หรือเช็คที่นำไปแลกแต่อย่างใดการกระทำของจำเลยครบองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 แล้ว
4. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 831/2559 (หลอกอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารจนหลงเชื่อโอนเงิน)
การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ โดยจะเห็นได้จากวิธีการหลอกลวง เมื่อจำเลยทั้งสี่กับพวกจัดตั้งระบบอุปกรณ์โทรศัพท์และระบบคอมพิวเตอร์ในรูปสำนักงานเครือข่ายโทรศัพท์ ขึ้นในต่างประเทศ และใช้การสื่อสารทางเสียงผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต ด้วยวิธีการสุ่มหมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทั้งสี่กับพวก แล้วโทรศัพท์หรือส่งข้อความทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อไปยังประชาชนทั่วไป รวมทั้งประชาชนไทยในราชอาณาจักร และแจ้งแก่ผู้ที่ได้รับการติดต่อด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่าง ๆ ในลักษณะอ้างตนเองเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หลอกลวงผู้ได้รับการติดต่อว่าผู้นั้นเป็นหนี้บัตรเครดิต หรือมียอดการใช้เงินในบัญชีสูงผิดปกติ ให้ไปตรวจดูยอดเงินในบัญชี หรือให้ไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงรหัสข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีธนาคารที่ประชาชนผู้ถูกหลอกลวงใช้บริการหรือให้ไปดำเนินการใส่รหัสผ่าน หรือรหัสสั่งให้ระงับการทำรายการในบัญชีเงินฝาก บัตรเบิกถอนเงินสดเอทีเอ็มหรือรหัสระงับบัญชีธนาคาร หรือรหัสป้องกันมิให้ข้อมูลรั่วไหล โดยแจ้งว่าเพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้อื่นเบิกถอนเงินออกจากบัญชีของประชาชนผู้ถูกหลอกลวงได้ ซึ่งเป็นการหลอกลวงเหมือนกัน อันมีลักษณะเป็นการหลอกลวงทั่วไป มิได้มุ่งหมายเจาะจงหลอกลวงคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ขึ้นอยู่กับว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกจะสุ่มได้หมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนคนใดที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทั้งสี่กับพวกเพื่อทำการหลอกลวง การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องจึงเป็นการร่วมกันฉ้อโกงประชาชน