โจทก์ไม่มาศาล ศาลยกฟ้องสถานเดียว|โจทก์ไม่มาศาล ศาลยกฟ้องสถานเดียว

โจทก์ไม่มาศาล ศาลยกฟ้องสถานเดียว

  • ทนายคลายทุกข์ ปรึกษากฎหมาย โทร 02-9485700
  • Email: [email protected]
Header Background Image

งานเผยแพร่ความรู้ทางด้าน กฎหมาย การบริหารการจัดการหนี้สินในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน การฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาบุคลากร ในการประกอบธุรกิจ หากหน่วยงานของรัฐ บริษัทห้างร้าน มีความสนใจ เชิญทีมงานไปฝึกอบรมสัมมนาหรือต้องการข้อมูลข่าวสาร ติดต่อได้ที่ 02-948-5700 อ่านต่อ

ท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมการติดตามหนี้ ทวงหนี้อย่างไรให้ได้ผล ได้เงิน รักษาภาพลักษณ์ รักษาลูกค้า/หลักสูตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตภายในองค์กร/หลักสูตรกฎหมายแรงงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารบริษัท สนใจโทร.02-9485700 อ่านต่อ

สืบทุกเรื่องที่คุณอยากรู้ มีเรื่องคาใจอยากรู้ความจริง โทรมาคุยกับกุ้งได้ที่ 081-625-2161หรือ 089-669-5026 "อย่าปล่อยให้มีเรื่องคาใจ อะไรที่ไม่สบายใจ ต้องหาทางปลดปล่อย สืบให้รู้ความจริง จะได้จบสิ้นกันเสียที สำหรับความทุกข์ที่คาใจมาเป็นเวลานาน อย่าปล่อยให้คนนอกใจลอยนวล" อ่านต่อ

รับแปลเอกสารต่างๆ อ่านต่อ

โจทก์ไม่มาศาล ศาลยกฟ้องสถานเดียว

โจทก์ในคดีอาญามีหน้าที่ต้องมาศาลทุกนัด(นัดไต่สวนมูลฟ้องและนัดพิจารณาคดี)

บทความวันที่ 7 มี.ค. 2555, 00:00

มีผู้อ่านทั้งหมด 34050 ครั้ง


โจทก์ไม่มาศาล ศาลยกฟ้องสถานเดียว

    โจทก์ในคดีอาญามีหน้าที่ต้องมาศาลทุกนัด(นัดไต่สวนมูลฟ้องและนัดพิจารณาคดี) ถ้าไม่มาศาลต้องยกฟ้องสถานเดียว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1726/2534
    ข้ออ้างของโจทก์ว่าทั้งตัวโจทก์และทนายโจทก์เข้าใจว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนการไต่สวนมูลฟ้องไปตามวันเวลาที่ทนายจำเลยแถลง ซึ่งเป็นวันหลังจากที่ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนมูลฟ้องต่อ 1 วัน แม้จะเป็นความจริงก็เป็นความผิดของโจทก์เอง กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะอนุญาตให้ยกคดีขึ้นไต่สวนต่อไป การที่จะพิจารณาว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบไปแล้วในการไต่สวนมูลฟ้องจะพอฟังว่าคดีมีมูลหรือไม่ต้องเป็นกรณีที่โจทก์มาศาลตามนัดแล้ว และไม่ติดใจนำพยานเข้าไต่สวนต่อไป เมื่อโจทก์ไม่มาศาลเสียแล้ว แม้จะมิใช่วันนัดไต่สวนมูลฟ้องครั้งแรก ศาลก็ต้องยกฟ้องโจทก์เสียตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคแรก.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1653/2493

    โจทก์ขาดนัดในชั้นสืบพยานประเด็น เมื่อปรากฏว่าได้สืบพยานโจทก์ไปแล้ว 2 ปากรวมทั้งตัวโจทก์ และโจทก์ก็ได้ยื่นคำร้องก่อนในวันเดียวกับที่ศาลพิพากษาเรื่องโจทก์ขาดนัดว่าโจทก์ไม่ติดใจสืบพยานต่อไป ขอให้นัดสืบพยานจำเลยเช่นนี้ยังไม่สมควรจะยกฟ้องโจทก์
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 181 บัญญัติให้นำเอามาตรา 166 อันเป็นบทบัญญัติในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาใช้บังคับในชั้นพิจารณาได้โดยอนุโลม ซึ่งหมายความว่า ให้ใช้ได้ตามควรแก่กรณี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3754/2530
    ป.วิ.อ. มาตรา 166 และมาตรา 181 มีเจตนารมณ์ที่จะเร่งรัดการดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็ว มิให้มีการประวิงคดี จึงได้กำหนดมาตรการเพื่อบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด มิฉะนั้นย่อมเสี่ยงต่อการที่จะถูกยกฟ้องอันเป็นผลเสียต่อคดีของโจทก์เอง กรณีจึงเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับศาลหาได้เกี่ยวข้องกับจำเลยแต่ประการใดไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่มาศาลในวันนัดพิจารณา โดยไม่ปรากฏเหตุขัดข้องแล้ว ศาลก็ชอบที่จะพิพากษายกฟ้องไปได้โดยไม่จำต้องคำนึงว่าจำเลยจะมาศาลในวันนั้นด้วยหรือไม่ ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าโจทก์จำเวลานัดของศาลคลาดเคลื่อนไปสมควรที่ศาลจะได้ทำการไต่สวนฟังข้อเท็จจริงเสียก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของโจทก์นั้น แม้จะเป็นความจริงตามที่โจทก์อ้าง ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะอนุญาตให้มีการพิจารณาคดีใหม่ จึงไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่ศาลจะต้องทำการไต่สวนเสียก่อนมีคำสั่ง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2085/2547
    โจทก์ที่ 1 ทราบกำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้องโดยชอบแล้ว มีหน้าที่จะต้องมาศาลตามกำหนดนัด แต่ในวันนัดฝ่ายโจทก์ที่ 1 กลับไม่มีผู้ใดมาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อนคดี ถึงแม้จะปรากฏว่าการส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 โดยวิธีปิดหมายยังไม่มีผลใช้ได้ตามกฎหมายดังที่ฝ่ายโจทก์ที่ 1 กล่าวอ้าง ก็หาทำให้ฝ่ายโจทก์ที่ 1 หมดหน้าที่ที่จะต้องมาศาลตามกำหนดนัดไม่
    ทนายโจทก์ที่ 1 ไปให้แพทย์ตรวจอาการป่วยตามที่อ้างเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2539 อันเป็นวันก่อนวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง แสดงว่าทนายโจทก์ที่ 1 รู้ตัวว่าตนมีอาการป่วยไม่สามารถมาศาลได้ตั้งแต่ก่อนวันนัดแล้ว และย่อมทราบดีว่าเหตุป่วยเจ็บเป็นเหตุที่อาจขอเลื่อนคดีได้ เพราะเป็นเหตุอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ ทนายโจทก์ที่ 1 ก็น่าจะติดต่อให้โจทก์ที่ 1 มาศาล หรือมานำคำร้องขอเลื่อนคดีที่สำนักงานทนายความของทนายโจทก์ที่ 1 มายื่นต่อศาลอันอยู่ในวิสัยที่จะกระทำได้ แต่ทนายโจทก์ที่ 1 ก็หาได้ยื่นคำร้องแจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบถึงเหตุแห่งความจำเป็นดังกล่าวเพื่อขอเลื่อนคดีไม่ พฤติการณ์ของฝ่ายโจทก์ที่ 1 ส่อลักษณะเป็นการประวิงคดี ทำให้ฝ่ายจำเลยได้รับความเดือดร้อน ทั้งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลล่าช้า กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะอนุญาตให้ยกคดีในส่วนของโจทก์ที่ 1 ขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2178/2536
    โจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัดเพราะโจทก์ไม่ทราบวันนัดสืบพยานโจทก์อันเนื่องจากการส่งหมายไม่ชอบ ย่อมไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลจะยกฟ้องได้ กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับที่โจทก์จะต้องขอให้ศาลยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ศาลยกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 166 และมาตรา 181

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 947/2533
    กรณีที่ศาลจะยกฟ้องโจทก์เพราะโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166 ได้นั้นจะต้องเป็นกรณีที่ศาลได้กำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้องหรือนัดพิจารณาคดีไว้ และเมื่อโจทก์ทราบกำหนดนัดนั้นแล้วไม่มาศาล ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องนั้น จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นหาได้กำหนดนัดเพื่อพิจารณาคดีและแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ทั้งที่ข้อหาที่โจทก์ฟ้องตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 นั้น มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ซึ่งศาลจะต้องฟังพยานโจทก์ต่อไปจนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 แต่ศาลชั้นต้นกลับจดรายงานกระบวนพิจารณาว่าคู่ความไม่สืบพยานโดยที่โจทก์ไม่ได้อยู่ในศาลขณะนั้นซึ่งถึงแม้โจทก์จะมาศาลในวันนั้นคดีก็ไม่อาจจะสืบพยานได้เพราะไม่ใช่วันนัดสืบพยาน กรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นจะต้องเลื่อนการพิจารณาคดีไปแล้วนัดสืบพยานโจทก์ในภายหลัง การที่ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาไปในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องเสียทีเดียว จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166181 ที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1570/2515
    ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยฐานเบิกความเท็จ ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องศาลสั่งให้รอฟังผลคดีแพ่งอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อคดีนั้นถึงที่สุดให้โจทก์หรือจำเลยแถลงต่อศาลต่อมาศาลมีหมายนัดให้คู่ความมาพร้อมกันเพื่อสอบถามเรื่องผลของคดีแพ่งดังกล่าวเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ครั้นถึงวันนัดพร้อม โจทก์ไม่มาศาลดังนี้ ศาลก็ไม่อาจยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166 เพราะไม่ใช่เป็นการนัดไต่สวนหรือพิจารณาอย่างใดและเมื่อศาลสั่งยกฟ้องไป แล้วความปรากฏว่า ที่โจทก์ไม่มาศาลเพราะส่งหมายนัดให้โจทก์ไม่ได้ ดังนี้ ศาลจะยกฟ้องตามมาตรา 166 วรรคหนึ่ง ไม่ได้อีกด้วย และกรณีเช่นนี้จะนำมาตรา 166 วรรคสอง มาใช้บังคับหาได้ไม่ เพราะเมื่อโจทก์ไม่ได้ทราบกำหนดนัดของศาลเสียแล้วก็ไม่มีเหตุสมควรอันใดที่โจทก์จะยกขึ้นแถลงต่อศาลได้ว่า ทำไมจึงมาศาลไม่ได้ โจทก์จึงไม่จำต้องร้องขอให้ศาลยกคดีขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่ ตามมาตรา 166 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 327/2483
    โจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัดเพื่อฟังกำหนดวันพิจารณานั้น ไม่เรียกว่า โจทก์ไม่มาตามกำหนดนัดตามความหมายในมาตรา 166 ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ฉะนั้นศาลจะยกฟ้อง โจทก์ไม่ได้ อ้างฎีกา 93/2483

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 890/2516
    วันนัดฟังประเด็นกลับหาใช่วันนัดสืบพยานไม่ ศาลส่งสำนวนไปให้ศาลอื่นสืบพยานโจทก์ให้ เมื่อสืบไม่ได้ โจทก์จำเลยขอให้ส่งประเด็นกลับและขอให้นัดฟังประเด็นกลับตามวันเวลาที่ตกลงกัน ครั้นถึงวันนัดโจทก์ไม่มาศาล ศาลจะสั่งงดสืบพยานโจทก์ต่อไปหาได้ไม่ และพฤติการณ์ดังกล่าวนี้ยังไม่พอให้ถือว่าโจทก์ประวิงคดี ศาลควรกำหนดวันนัดสืบพยานที่เหลืออยู่ของโจทก์ แล้วแจ้งให้โจทก์ทราบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 127/2524
    โจทก์ยื่นฟ้องคดีอาญา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าประทับฟ้อง จ่ายสำเนา วันนี้นัดพิจารณาเวลา 11.30 นาฬิกาเป็นการสั่งลอยๆ ไม่เป็นกิจจะลักษณะว่านัดพิจารณาอะไรและนัดพิจารณาหลังจากโจทก์ยื่นฟ้องเพียง 1 ชั่วโมงเศษอันเป็นเวลากะทันหัน แม้จะถือว่าโจทก์ทราบกำหนดนัดแล้วไม่มาศาลก็ยากที่โจทก์จะปฏิบัติได้ทันท่วงที ยังไม่เป็นเหตุให้พิพากษายกฟ้องทันที
 

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 9

วันฟังคำตัดสินหลังไต่สวนมูลฟ้องเสร็จสิ้นแล้ว รอฟังว่าจะรับฟ้องหรือยกฟ้อง โจทก์และทนายโจทก์ไม่มาศาลในวันนัดฟังผลศาลจึงไม่อ่านคำตัดสิน มีสิทธิยกฟ้องไหมคับ 

โดยคุณ เบล 12 ก.ย. 2566, 13:15

ความคิดเห็นที่ 8

ในกรณีที่โทย์ฟ้องอาญาเอง นัดไต่ หากโจทย์ไม่มาเอง มอบอำนายให้คนอื่นและทนายโจทย์มาแทนได้ไหมค่ะ ความน่าเชื่อถือจะน้อยลงไหมค่ะ

โดยคุณ บี 29 ธ.ค. 2562, 10:58

ตอบความคิดเห็นที่ 8

กรณีที่ทนายโจทก์มาศาลก็ถือว่าโจทก์มาศาลแล้วจะยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 166 ไม่ได้ แต่ถ้าโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานแล้วไม่มีพยานมาสืบศาลก็ยกฟ้องได้ตามมาตรา 185 สรุปคือแม้ทนายโจทก์มาแต่ถ้าไม่มีพยานมาสืบศาลก็ยกฟ้อง

โดยคุณ ทีมงานทนายคลายทุกข์ 15 ม.ค. 2563, 11:19

ความคิดเห็นที่ 7

วันที่ศาลนัดฟังคำพิพากษา ทนายจำเลยต้องมาด้วยทุกครั้งหรือไม่ครับ

โดยคุณ ศิวดล 15 ก.ค. 2562, 12:19

ความคิดเห็นที่ 6

กรณีที่ศาลตัดสินให้จำคุก 3 ปี ไปแล้ว สามารถให้โจทย์มาถอนอะไรได้มั้ยครับ พอจะมีวิธีไหนที่พอจะลดโทษได้มั้ยครับ มีคนแนะนำคนนึงเป็นตำรวจยศใหญ่เค้าบอกว่าเป็นเพื่อนกับผู้พิพากษาสามารถเคลียร์ได้ อันนี้ทำได้มั้ยครับ แล้วเคยเกิดกรณีนี้ มั้ยครับ

โดยคุณ Nontanun 8 เม.ย. 2562, 16:43

ตอบความคิดเห็นที่ 6

สามารถอุทธรณ์ได้ตามกฎหมายค่ะ 

โดยคุณ ทีมงานทนายคลายทุกข์ 26 เม.ย. 2562, 09:56

ความคิดเห็นที่ 5

ถ้าฝ่ายโจทก์ฟ้องคดีแล้วต้องการให้เราไปเป็นพยานให้ แล้วเราไม่อยากไป ต้องทำอย่างไรบ้างคะ

โดยคุณ ไม่ต้องการไปเป็นพยานให้ฝ่ายโจทก์ 2 เม.ย. 2562, 15:59

ความคิดเห็นที่ 4

ในกรณีที่ศาสนัดไปฟังคำพิพากษา แต่ดิฉันไม่ได้ไป เพราะว่าจดหมายที่ไปรษณีย์มาส่งมันเลยเวลานัดมาแล้ว ฉันจะทำอย่างไรได้บ้างคะ

โดยคุณ สุดา สุภาเสพย์ 27 พ.ย. 2561, 09:36

ความคิดเห็นที่ 3

ทนายฝ่ายโจทก์ ขอเป็นพยาน ได้มั้ย

เนื่องจากโจทก์ไม่มา

เพราะศาลบอกว่าถ้าไม่มีพยาน

ให้ยกฟ้อง

โดยคุณ สิทธิชัย 23 มิ.ย. 2561, 22:51

ความคิดเห็นที่ 2

ในวันนัดสืบพยานโจทย์

ฝ่ายโจทก์ไม่มีใครมาและไม่ได้บอกเหตุอันสมควรไว้ แต่ฝ่ายจำเลยก็ไม่ได้มาในวันสืบพยานเช่นกัน ศาลสั่งให้เลื่อนคดีออกไปก่อน คำสั่งของศาลชอบด้วยกฏหมายหรือไม่

โดยคุณ Kittawat 17 ส.ค. 2560, 17:50

ตอบความคิดเห็นที่ 2

กรณีตามปัญหา   หากเป็นคดีอาญา ในวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์มีหน้าที่ต้องมาศาลตามกำหนดนัดทุกนัด ถ้าโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัด ให้ศาลยกฟ้อง แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาควาอาญา มาตรา 166 วรรคแรก

หากเป็นคดีแพ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 200 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 198 ทวิ และมาตรา 198 ตรี ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลให้วันสืบพยานและไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณา” และมาตรา 201 บัญญัติว่า “ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ” และมาตรา 202 บัญญัติว่า “ ถ้าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ เว้นแต่จำเลยจะได้แจ้งต่อศาลให้วันสืบพยานขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป ก็ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว”  

โดยคุณ ทีมงานทนายคลายทุกข์ 3 ก.ย. 2560, 15:18

ความคิดเห็นที่ 1

น่าใช้คำว่าฝ่ายโจทก์ นะฮะ จริง รวมนัดตรวจพยานด้วยใช่มั้ยคับ

โดยคุณ หงาว 29 เม.ย. 2555, 18:28

แสดงความเห็น

ข่าวที่มีผู้อ่านมาก