รูปแบบการฟอกเงินในประเทศไทย
หลังจากที่ประเทศไทยถูกคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินการมาตรการทางการเงิน(Financial Task Force หรือ FATF) จัดให้มีความเสี่ยงในด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พบว่า ไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก ธนาคารตัวแทนซึ่งเป็นคู่ค้าในต่างประเทศมองธนาคารของประเทศไทยว่า เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงในการฟอกเงินสูง พร้อมทั้งลูกค้าไทยถูกจัดระดับความเสี่ยงสูงเช่นกัน โดยธนาคารคู่ค้าได้แจ้งว่าธนาคารของไทยจะต้องมีการวิเคราะห์ลูกค้าให้เข้มข้นขึ้นมากกว่าปกติ ดังนั้น สิ่งที่กระทบต่อแบงก์ในประเทศไทย คือ ธนาคารต้องสอบถามข้อมูลของลูกค้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้อาจต้องขอหลักฐานเพิ่ม เช่น เลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทางลูกค้าที่ทำธุรกรรมในประเทศไทยด้วยเพราะการโอนเงินระหว่างประเทศต้องมีการให้ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่ก่อการร้าย โดยจะเสนอต่อที่ประชุมสภาต่อไป หลังจากออกกฎหมายเหล่านี้แล้ว ไทยต้องแสดงความมีประสิทธิภาพในการดำเนินการตามกฎหมาย ที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า
ทนายคลายทุกข์ขอนำตัวอย่างการฟอกเงินที่ทำให้ประเทศไทยถูกขึ้นบัญชีดำหรือแบล็คลิสต์ ดังนี้
1. ตลาดหลักทรัพย์
พวกฟอกเงินมักจะนำเงินที่ได้จากการฟอกเงินไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะมีความน่าเชื่อถือสูง และยากในการตรวจสอบ
2. เต็นท์รถ
แหล่งฟอกเงินเต็นท์รถ พวกนี้ใช้ทุนในการดำเนินธุรกิจเป็นจำนวนมาก เจ้าของเต็นท์หลายเต็นท์ได้เงินมาจากการฉ้อโกงประชาชน เช่น คดีกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนหรือเงินที่ได้จากนักการเมืองทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค( สคบ.) และ ป.ป.ง.พยายามที่จะออกกฎระเบียบเพื่อหาทางควบคุมการซื้อขายรถยนต์มือสอง โดยมีการกำหนดราคารถยนต์ที่ซื้อขายถ้าถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ต้องรายงานธุรกรรมให้ ป.ป.ง.ทราบ ซึ่งก็เป็นวิธีการที่ดีในการป้องกันการฟอกเงิน
3. ร้านทอง
ทางภาคใต้ก็นำเงินที่ได้จากการค้ายาเสพติดมาเปิดร้านทองเพื่อฟอกเงินและนำเงินมาใช้ในการก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น
4. ร้านอาหาร
ก็มีข้าราชการและนักการเมืองนำเงินที่ได้จากการทุจริตไปเปิดร้านอาหาร ภัตตาคาร ที่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมากอันเป็นการฟอกเงิน
5. ปล่อยเงินกู้นอกระบบ
เป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายที่แยบยลยากในการตรวจสอบเพราะเป็นลักษณะในการสมยอมกันระหว่างผู้ให้กู้กับผู้กู้ และส่วนใหญ่ผู้กู้มักเป็นผู้ที่ไม่มีความสามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้ แต่มีความจำเป็นต้องใช้เงินในการดำเนินชีวิตและการทำธุรกิจ มักจะไม่ให้ความร่วมมือกับทางราชการในการให้ข้อมูลที่แท้จริง ประกอบกับนายทุนที่เป็นมาเฟียร์หรือทำธุรกิจผิดกฎหมาย มักมีมือปืน นักเลง มาข่มขู่ลูกหนี้ จึงเป็นเรื่องยากในการดำเนินคดีฟอกเงิน
6. ไฟแนนซ์รถยนต์, รถจักรยานยนต์
ธุรกิจประเภทนี้เป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินทุนสูงในการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะเงินสดและเงินทุนหมุนเวียน ได้กำไรสูง ยากในการตรวจสอบ ไฟแนนซ์รถยนต์และรถจักรยานยนต์บางแห่งมีเงินหมุนเวียนเป็นหมื่นล้านโดยเฉพาะในต่างจังหวัด เป็นวิธีการที่นิยมสำหรับผู้ที่ต้องการฟอกเงิน บุคคลเหล่านี้จะมีพวกนักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ คอยคุ้มครองอยู่ จึงยากต่อการดำเนินคดี
7. สหกรณ์
มีกลุ่มฟอกเงินนำเงินจำนวนมากหลักร้อยล้านพันล้านไปฝากที่สหกรณ์ได้ดอกเบี้ยสูง แถมยังมีอิทธิพลในสหกรณ์ในการสนับสนุนจากบุคคลขึ้นเป็นผู้บริหารของสหกรณ์ โดยกลุ่มฟอกเงินได้อาศัยช่องว่างของสหกรณ์ในการเข้าเป็นสมาชิกหรือผ่านตัวแทนที่เป็นสมาชิกอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้พยายามจะปราบปรามการฟอกเงินในสหกรณ์ แต่ก็ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะทุกสหกรณ์ยังต้องการเงินหมุนเวียนสำหรับสมาชิกอยู่
8. โครงการอสังหาริมทรัพย์
เป็นอีกแหล่งฟอกเงินที่อาชญากรนิยมใช้เป็นแหล่งฟอกเงิน เช่น ในจังหวัดภูเก็ต พัทยา แหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศ จะมีพวกฟอกเงินมาลงทุน ซื้อรีสอร์ทเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ถือครองเป็นนามส่วนตัว บริษัท หรือนอมินี หลายรูปแบบ การตรวจสอบเป็นเรื่องยากอีกเช่นกัน ซึ่งรัฐบาลไทยจะต้องมีมาตรการในการตรวจสอบที่มาของเงินให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเป็นสวรรค์สำหรับพวกฟอกเงิน
สุดท้ายนี้ทนายคลายทุกข์หวังว่ารัฐบาลไทยจะเร่งแก้กฎหมายฟอกเงินเพื่อสกัดแก็งค์ฟอกเงินทั้งคนไทยและคนต่างประเทศ ไมให้แผ่ขยายอิทธิพลและเครือข่ายในประเทศไทย ซึ่งพวกนี้มักจะเกี่ยวข้องกับนักการเมืองระดับสูง ซึ่งถ้าประเทศของเรามีผู้นำที่เป็นหัวหน้าแก็งค์ฟอกเงิน บ้านเมืองเราก็คงต้องย่ำแย่และเต็มไปด้วยยาเสพติด การทุจริตคดโกง เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องคอยสอดส่องพฤติกรรมของนักการเมืองท้องถิ่น เจ้าของกิจการโรงงานที่ร่ำรวยผิดปกติและช่วยกันปราบปราม หาหลักฐานแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย เช่น สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ปราบปรามการฟอกเงินให้สิ้นไปจากแผ่นดินไทย