คลิป/ไฟล์เสียง วิเคราะห์คดี คปภ.ปูดทายาทได้สินไหม1.2ล้าน ครูตายอุบัติเหตุ
ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งเป็นสมาชิกองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) คนหนึ่ง เปิดเผยกรณีทำหนังสือร้องเรียนไปยังเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ขอให้ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันสินเชื่อในโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.โครงการ 5 และ 6 ซึ่งมีบริษัทร่วมรับประกันภัย 2 บริษัท คือ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ธนชาตประกันชีวิต จำกัด โดยบริษัท ธนชาตฯ เป็นผู้รับประกันชีวิต กำหนดระยะเวลา 10 ปี แต่มีการออกเอกสารแนบท้ายยกเว้นไม่คุ้มครอง การเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุ จึงเป็นการออกกรมธรรม์ประกันภัยแตกต่างไปจากแบบ หรือข้อความที่นายทะเบียนให้ความเห็นชอบ ผลก็คือ ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิเลือกให้บริษัท ธนชาตฯต้องรับผิดตามแบบ หรือข้อความที่นายทะเบียนให้ความเห็นชอบ กล่าวคือ แม้ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ บริษัท ธนชาตฯยังคงต้องรับผิดชดใช้เงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ ทั้งนี้ ตามความในมาตรา 29 วรรค 3 แห่ง พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 ขณะที่บริษัท ทิพยฯเป็นผู้รับประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม กำหนดระยะเวลาเอาประกันภัย 10 ปี ให้ความคุ้มครองการเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะ สายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงจากอุบัติเหตุ
สมาชิก ช.พ.ค.คนเดิมกล่าวว่า ในกรณีที่เลขาธิการ คปภ.แจ้งการตรวจสอบการทำประกันภัยสินเชื่อเพื่อประกันชีวิตในโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.5 ระยะแรกว่า ทายาทผู้เอาประกันภัยที่เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุต้องได้เงินจากบริษัท ธนชาตฯด้วย เท่ากับจะได้เงิน 1,200,000 บาท ซึ่งตนไม่เคยรับทราบสิทธินี้มาก่อน รู้สึกแปลกใจว่าเหตุใดบริษัทประกันทั้งสองแห่ง และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) จึงไม่แจ้งให้สมาชิก ช.พ.ค.ที่กู้เงินในโครงการดังกล่าวทราบถึงสิทธิประโยชน์ เพราะทราบมาว่า คปภ.ได้ตรวจสอบเรื่องนี้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และน่าจะต้องแจ้งผลให้บริษัทประกันทั้งสองแห่งรับทราบด้วย ที่สำคัญตนเชื่อว่าน่าจะมีครูผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ทราบว่าทายาทได้รับเงินเพียง 600,000 บาท หรือ 1,200,000 บาท ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องให้นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.และผู้บริหาร ศธ.เข้ามาติดตามตรวจสอบ เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับทายาทด้วย
อนึ่ง ในการทำประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.5 ระยะแรก สมาชิก ช.พ.ค.จ่ายเบี้ยประกันรวม 37,200 บาท โดยบริษัท ทิพยฯรับเบี้ยประกันไป 5,580 บาท วงเงินเอาประกัน 600,000 บาท และบริษัท ธนชาตฯรับเบี้ยประกันไป 31,620 บาท วงเงินเอาประกัน 600,000 บาท