คลิป/ไฟล์เสียง วิเคราะห์คดี แฉรูโหว่! กรมศุลฯฟันเงินรางวัล-สินบนนำจับ โกยเงินหมื่นล้าน
จากกรณีการเปิดตัวเลขเงินรางวัล และสินบนนำจับของศุลกากรในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่ามหาศาลกว่า 10,000 ล้านบาทนั้น แหล่งข่าวจากกรมศุลกากร เปิดเผยว่า มีความเป็นไปได้ที่หลายกรณีในอดีต เจ้าหน้าที่อาจจะแบ่งสินบน เงินรางวัลไม่ถูกต้อง ตามมาตรา 102 ตรี (1)-(3) แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร ฉบับปี พ.ศ. 2469 เพราะส่วนใหญ่เป็นเงินที่ได้มาจากคดีหลีกเลี่ยงอากร แต่มาเบิกเงินรางวัลจากคดีความผิดฐานลักลอบหนีภาษีศุลกากร ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่และสายสืบได้รับเงินสินบนและรางวัลนำจับในอัตรา 55% ของมูลค่าของกลางที่ขายทอดตลาดได้ ตามที่กำหนดในมาตรา 102(1)
"แต่หากผู้ทำคดีไประบุว่า มีความผิดฐานสำแดงเท็จจะได้รับส่วนแบ่งเงินสินบนและรางวัล 55% เช่นกัน แต่เป็น 55% ของค่าปรับสูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาท ตามที่กำหนดไว้มาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร ฉ.19 พ.ศ. 2548 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ในสมัยของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี"
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากกฎหมายศุลกากรมาตรา 27 ได้กำหนดความผิดทั้งฐานลักลอบและหลีกเลี่ยงเข้าไปรวมอยู่ในมาตราเดียวกัน จึงกำหนดโทษปรับไว้สูงถึง 4 เท่าของราคาสินค่ารวมภาษีที่ยังไม่ได้ชำระ ซึ่งตามหลักการของกฎหมาย บทลงโทษมาตราใดรุนแรงกว่าให้ใช้มาตรานั้น หมายความว่า ผู้กระทำผิดจะต้องถูกปรับ 4 เท่า แต่ถ้ายอมในชั้นเปรียบเทียบปรับโดน 2 เท่า ซึ่งตรงนี้ถือว่าถูกต้องแล้ว
ต่อประเด็นปัญหาการจัดสรรเงินรางวัลและสินบนนำจับ ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจได้สอบถามไปยังนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมศุลกากร ซึ่งได้รับคำชี้แจงว่าการจัดสรรเงินรางวัลและสินบนนำจับจะผิดหรือจะถูก ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต เนื่องจากตนเพิ่งมารับตำแหน่งที่นี่ได้ไม่กี่เดือน ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด และถ้าดูจากสถิติข้อมูลการคดีที่มีการจ่ายเงินสินบนรางวัลในแต่ละปีมีเป็นพันคดีและมีเจ้าหน้าที่เข้าไปรับเงินสินบนรางวัลเป็นหลายร้อยคน หากจะไปตรวจสอบหลังกันต้องใช้กำลังคนเป็นจำนวนมาก แฟ้มคดีกระจายอยู่ที่ไหนบ้างก็ยังไม่ทราบ และถ้าจะตรวจก็ต้องตรวจดูข้อเท็จจริงกันเป็นรายคดีไป