คลิป/ไฟล์เสียง วิเคราะห์คดี เอแบคโพลล์ วิเคราะห์เยาวชนติดเหล้าติดยา
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจต่อเนื่องภายใต้โครงการวิจัยเพื่อเฝ้าระวังรักษาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนไทย เรื่อง ประมาณการตัวเลขนักเรียน นักศึกษาผู้ใช้ยาเสพติด จากตัวอย่างนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ (ป.) 5 ถึงนักศึกษาปริญญาเอกทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 21,572 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-21 ธันวาคม 2553
ผลวิจัยพบว่า นักเรียนนักศึกษาชายมีสัดส่วนของคนที่สูบบุหรี่และดื่มเหล้าสูงกว่านักเรียนนักศึกษาหญิง คือร้อยละ 15.8 ต่อร้อยละ 5.1 สูบบุหรี่ และร้อยละ 33.8 ต่อร้อยละ 27.9 ดื่มเหล้า
เมื่อทำการประมาณการจำนวนตัวเลขนักเรียน/นักศึกษาที่ดื่มเหล้าจากกลุ่มเป้าหมาย 9,240,981 คน พบว่ามีนักเรียนนักศึกษาตั้งแต่ป.5 ถึงปริญญาเอกดื่มเหล้า 3,631,706 คน และสูบบุหรี่ 1,090,436 คน
แต่ที่น่าเป็นห่วงต่อคุณภาพเด็กและเยาวชนของประเทศคือ จำนวนเด็กนักเรียน/นักศึกษาตั้งแต่ป. 5 จนถึงปริญญาเอกที่ใช้ยาเสพติด ไม่นับรวมเหล้าบุหรี่ ยานอนหลับ ไม่นับรวมยาแก้ปวด พบว่า มีนักเรียนนักศึกษาที่ใช้ยาเสพติด 711,556 คน
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อจำแนกตามประเภทตัวยาเสพติดที่ใช้กันในกลุ่มนักเรียน/นักศึกษาตั้งแต่ป. 5 ถึงปริญญาเอก พบว่า มีจำนวน 316,110 ใช้กัญชา อีก 298,480 คน ใช้กระท่อม ใช้สาระระเหย 214,020 คน ใช้ยาบ้า 148,010 คน สี่คูณร้อย 134,480 คน ยาไอซ์ 100,040 คน ยาอี อ็กซ์ตาซี ยาเลิฟ 63,550 คน และใช้ยาเค เคตามีน 53,300 คน ที่เหลืออีก 65,880 คน ใช้ยาเสพติดอื่นๆ เช่น เฮโรอีน มอร์ฟีน โคเคน เป็นต้น
ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ ผลการใช้หลักสถิติวิจัยพบว่า นักเรียน/นักศึกษาตั้งแต่ป. 5 จนถึงปริญญาเอก ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดสูงกว่าเด็กนักเรียน นักศึกษาที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 9 เท่า หรือ 9.052 เท่า และเด็กนักเรียนนักศึกษาที่ดื่มเหล้ามีโอกาสเข้าไปใช้ยาเสพติดสูงกว่าเด็กนักเรียนนักศึกษาที่ไม่ดื่มสูงถึง 4 เท่า หรือ 4.413 เท่า