คู่สมรสลงชื่อเป็นพยานในสัญญาถือว่าเป็นการให้สัตยาบัน
มีท่านผู้อ่านหลายท่านที่มีคู่สมรสแล้ว สอบถามทนายคลายทุกข์ เกี่ยวกับกรณีคู่สมรสฝ่ายหนึ่งไปกู้ยืมเงินธนาคารหรือไปเช่าซื้อรถยนต์หรือไปเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ให้กับบุคคลอื่น ซึ่งคู่สมรสกระทำไปเป็นการเฉพาะตัวมิได้นำเงินมาใช้ในครอบครัว แต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ไปลงชื่อเป็นพยานในสัญญา หรือไปลงชื่อให้ความยินยอม จะต้องร่วมรับผิดหรือไม่ ทนายคลายทุกข์ขออธิบายเป็นรายประเด็นดังต่อไปนี้
ประเด็นแรก หนี้ที่เกิดก่อนสมรส
ถ้าหนี้ที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก่อให้เกิดขึ้นเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนสมรส แม้ต่อมาภายหลังสมรส คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันก็ตาม ก็ยังคงถือเป็นหนี้ส่วนตัวของฝ่ายที่ก่อหนี้ ไม่อาจกลายเป็นหนี้ร่วมไปได้
ประเด็นที่สอง หนี้ที่เกิดระหว่างสมรส
หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้น เพื่อประโยชน์ของตนเองฝ่ายเดียวในระหว่างสมรส ถ้าคู่สมรสอีกฝ่ายได้ให้สัตยาบัน โดยลงชื่อให้ความยินยอมหรือลงชื่อในฐานะพยาน ถือว่าเป็นการให้สัตยาบันโดยปริยายแล้ว หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ร่วมที่สามีและภริยาจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน
ตัวอย่างคำพิพากษาของศาลฎีกาเกี่ยวกับการให้สัตยาบันในหนี้ที่คู่สมรสได้ก่อขึ้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3425/2545
การที่จำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นพยานและเป็นผู้ให้ความยินยอมในฐานะภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันหนี้ของบริษัท ว. แม้ว่าจำเลยที่ 1 จะมิได้มีส่วนรับเงินไปใช้เป็นการส่วนตัว หรือกิจการของครอบครัวก็ตาม แต่หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการที่จำเลยที่ 1 สามีก่อขึ้นในระหว่างสมรสเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวโดยจำเลยที่ 2 ผู้เป็นภริยาได้ให้สัตยาบันแล้ว จึงเป็นหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490(4) จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2955/2548
จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ในระหว่างที่จำเลยกับผู้ร้องเป็นสามีภริยากัน หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่จำเลยได้ก่อขึ้นในระหว่างสมรส แม้ตอนที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ผู้ร้องจะมิได้ร่วมอยู่ด้วยและไม่ปรากฏว่าจำเลยนำเงินกู้มาใช้ในกิจการใดก็ตาม แต่การที่ผู้ร้องขับรถยนต์พาจำเลยไปที่บ้านโจทก์หลายครั้งและผู้ร้องขอผัดผ่อนการชำระหนี้เงินกู้รายนี้ เมื่อโจทก์ทวงถาม พฤติการณ์ของผู้ร้องดังกล่าวเชื่อได้ว่าผู้ร้องได้ร่วมรู้เห็นและยินยอมให้จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ ถือได้ว่าผู้ร้องให้สัตยาบันหนี้ดังกล่าวแล้ว หนี้รายนี้จึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างผู้ร้องกับจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490(4) ผู้ร้องต้องร่วมรับผิดกับจำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ก็มีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้จากบ้านพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสได้ทั้งหมด ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้กันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดบ้านดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7631/2552
สามีจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโดยมีจำเลยซึ่งเป็นภริยาลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญา จึงถือได้ว่าจำเลยได้ให้สัตยาบันในการทำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว หนี้กู้ยืมเงินจึงเป็นหนี้ร่วมของสามีจำเลยและจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 (1) โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องลูกหนี้ทุกคนพร้อมกัน ให้ลูกหนี้ชำระหนี้เป็นส่วนๆ หรือจะฟ้องลูกหนี้ทีละคนจนกว่าจะชำระหนี้ครบถ้วนก็ได้ตามมาตรา 290
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2429/2548
มูลหนี้คดีนี้เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในความผิดฐานฉ้อโกงและเรียกให้จำเลยชดใช้เงินที่หลอกลวงจากผู้เสียหายคืนให้แก่ผู้เสียหาย จึงเป็นมูลหนี้ละเมิดอันเกิดจากการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นสามีของผู้ร้องแต่ฝ่ายเดียว และเป็นการทำเฉพาะตัว เมื่อผู้ร้องลงลายมือชื่อพยานในหนังสือรับสภาพหนี้ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดในคดีอาญา จึงไม่ใช่การรับรองหรือให้สัตยาบันในมูลละเมิดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่จะทำให้เป็นหนี้ร่วมที่มีสามีภริยาจะต้องรับผิดชอบร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 1490
ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1490 หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรส ดังต่อไปนี้
(1)หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ
(2) หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส
(3) หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน
(4) หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวแต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน
ดังนั้น ถ้าคู่สมรสของท่านไปกู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์ของตัวเองฝ่ายเดียว ท่านไม่ควรเข้าไปรับรู้หรือเป็นพยาน หรือให้ความยินยอม มิฉะนั้น ท่านต้องร่วมรับผิดด้วย