ฟ้องคดีผู้บริโภคโดยไม่ต้องมีทนายทำได้จริงหรือ
ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มีผลใช้บังคับ ทำให้มีคดีผู้บริโภคขึ้นสู่ศาลเป็นจำนวนมาก คดีเล็กคดีน้อยสารพัดเรื่องสารพัดราว ทั้งที่เป็นผู้บริโภคตัวจริงและผู้บริโภคตัวปลอม ที่พยายามหาช่องว่างของกฎหมายเล่นงานผู้ประกอบธุรกิจ เรียกค่าเสียหายจำนวนสูงเกินจริง โดยเอาชื่อเสียงของผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวประกัน เพราะผู้ประกอบธุรกิจถ้าถูกผู้บริโภคฟ้อง ผู้บริโภคก็มักจะนำคำฟ้องมาประชาสัมพันธ์ทางสื่อสารมวลชน เช่น ทางวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เนื่องจากมีกฎหมายคุ้มครองให้ทำได้ ถ้าเป็นการเผยแพร่โดยสุจริตไม่ได้ให้สัมภาษณ์นอกเหนือจากคำฟ้องของตนเอง เพื่อจะทำลายชื่อเสียงของผู้ประกอบธุรกิจ ก็สามารถกระทำได้ มีผู้ประกอบธุรกิจหลายรายที่ตกเป็นข่าวทางสื่อสารมวลชนที่ถูกผู้บริโภคดำเนินคดีเกี่ยวกับการขายสินค้าหรือให้บริการ
ทนายคลายทุกข์ ซึ่งรับเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับคดีผู้บริโภคในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก ขอนำเสนอในมุมมองเกี่ยวกับการดำเนินคดีผู้บริโภคในชั้นศาล เนื่องจากการดำเนินคดีผู้บริโภคในชั้นศาลกฎหมายให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องสำคัญ
1. ต้องรวดเร็ว
2. ต้องประหยัด
3. ต้องมีประสิทธิภาพ
การฟ้องคดีทำได้ 2 แบบ แบบแรกคำฟ้องเป็นหนังสือ ซึ่งโดยทั่วไปต้องใช้ผู้ที่เป็นทนายความมีใบอนุญาตว่าความเท่านั้น การฟ้องแบบเป็นหนังสือ จึงไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะมีทนายความเป็นคนดำเนินการสืบพยานในชั้นศาลจนเสร็จคดี แต่การฟ้องคดีผู้บริโภคแบบที่สองเรียกว่าการฟ้องด้วยวาจา การฟ้องด้วยวาจาในทางปฏิบัติผู้บริโภคคนใดที่ได้รับความเดือดร้อน จากการซื้อสินค้าหรือรับบริการ ก็จะเดินทางไปยังศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาคดีแพ่งที่ใกล้บ้านตัวเอง ไปพบเจ้าหน้าที่ของศาล ที่เรียกชื่อว่าเจ้าพนักงานคดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่จบเนติบัณฑิตและมีความรู้ทางกฎหมายเป็นอย่างดี เมื่อพบกับเจ้าพนักงานคดีก็จะทำการเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับข้อเท็จจริง ความเป็นมาเกี่ยวกับการถูกละเมิดสิทธิผู้บริโภคว่าถูกละเมิดสิทธิอย่างไร มีความเสียหายอย่างไร มีเอกสารหรือสัญญาอะไรบ้าง เคยไปร้องเรียนที่ไหนมาบ้าง และมาศาลต้องการให้ศาลบังคับผู้ประกอบธุรกิจอย่างไร เมื่อฟังข้อเท็จจริงจากผู้บริโภคแล้ว เจ้าพนักงานคดีก็จะนำข้อเท็จจริงดังกล่าว มาบันทึกลงในคำฟ้องและอ่านให้กับผู้บริโภคฟัง และให้ผู้บริโภคที่จะเป็นโจทก์ลงลายมือชื่อลงในคำฟ้อง แล้วนำไปเสนอต่อศาลในวันนั้นเลย ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นขั้นตอนการนัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ถ้าตกลงกันได้ก็จบกันไป แฮปปี้ทั้งสองฝ่าย แต่ปัจจุบันมักเรียกค่าเสียหายมาเป็นจำนวนสูง บางคดีก็มีเงื่อนไขแปลกๆ เช่น ต้องขอโทษ ขอขมา หรือให้ผู้ประกอบธุรกิจโฆษณาประจานตัวเองทางสื่อสารมวลชน หรือสังคมออนไลน์ เป็นต้น ก็ทำให้ตกลงกันไม่ได้จำเป็นจะต้องมีการกำหนดประเด็นข้อพิพาทและกำหนดหน้าที่นำสืบ เมื่อมาถึงตอนนี้ถ้าผู้บริโภคไม่มีทนาย ศาลก็ไม่มีทนายให้เหมือนกัน ความยากลำบากจึงตกอยู่กับผู้บริโภค ศาลก็จะช่วยอะไรได้ไม่มากนัก ถึงแม้จะมีอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงได้ก็ตาม แต่ก็เป็นภาระอันหนักของศาล ในทางปฏิบัติถ้าผู้ประกอบธุรกิจต่อสู้คดี ผู้บริโภคมักจะไปไม่รอดเสียเป็นส่วนใหญ่ มีคดีที่ผู้บริโภคไปฟ้องศาลเองแล้วไปไม่รอดหลายคดี มาขอคำแนะนำกับผม ทุกคดีส่วนใหญ่ท่านผู้พิพากษาก็มักจะให้คำแนะนำว่า ควรไปหาทนายมาเพื่อช่วยในการถามพยานและเตรียมคดี มิฉะนั้น โอกาสชนะคดีจะมีน้อย ทนายคลายทุกข์ขอเรียนว่า การที่กฎหมายผู้บริโภคกำหนดให้ฟ้องคดีด้วยวาจา แต่ไม่มีทนายความให้กับผู้บริโภค มันก็เหมือนกับส่งไม่ถึงฝั่ง ส่งแค่กลางคลอง และให้หาทางว่ายน้ำไปเอง ซึ่งในน้ำมีทั้งปลาฉลาม จระเข้ ซึ่งหมายถึงผู้ประกอบธุรกิจและทีมงานของเขามีแต่พวกเคี่ยวๆ ทั้งนั้น โอกาสที่ผู้บริโภคจะได้รับความเป็นธรรมนั้นแทบจะไม่มีเลย จึงฝากไปยังรัฐบาลว่าถ้าจะให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ก็ควรจะมีการจัดหาทนายให้เพียงพอในการรองรับคดีผู้บริโภคนะครับ ส่วนผู้บริโภคทั้งหลายที่คิดจะฟ้องดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจ เช่น คดีซื้อบ้าน ซื้อคอนโด ฟ้องหมอ ฟ้องโรงพยาบาล ฟ้องผู้ผลิตรถยนต์ ทนายคลายทุกข์ขอเรียนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ ก่อนฟ้องควรปรึกษาหารือกับทนายความก่อนนะครับ มิฉะนั้น อาจตกม้าตายในชั้นพิจารณาคดีได้นะครับ
ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551
มาตรา 20 การฟ้องคดีผู้บริโภค โจทก์จะฟ้องด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ ในกรณีที่โจทก์ประสงค์จะฟ้องด้วยวาจา ให้เจ้าพนักงานคดีจัดให้มีการบันทึกรายละเอียดแห่งคำฟ้องแล้วให้โจทก์ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ
คำฟ้องต้องมีข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี รวมทั้งคำขอบังคับชัดเจนพอที่จะทำให้เข้าใจได้ หากศาลเห็นว่าคำฟ้องนั้นไม่ถูกต้องหรือขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องในส่วนนั้นให้ถูกต้องหรือชัดเจนขึ้นก็ได้
ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีในคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551
ข้อ 6 ในกรณีที่โจทก์ยื่นคำฟ้องเป็นหนังสือ หากคำฟ้องนั้นไม่ถูกต้องหรือขาดสาระสำคัญในเรื่องใด เจ้าพนักงานคดีอาจให้คำแนะนำแก่โจทก์เพื่อจัดทำคำฟ้องให้ถูกต้องครบถ้วน
ในกรณีที่โจทก์ประสงค์จะฟ้องด้วยวาจา ให้เจ้าพนักงานคดีดำเนินการเพื่อให้มีการจดบันทึกรายละเอียดแห่งคำฟ้องลงในแบบพิมพ์คำฟ้องแล้วให้โจทก์ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ