การปรับโครงสร้างหนี้
ปัจจุบันแนวโน้มหนี้เสียในระบบสถาบันการเงินและนอกระบบมีแนวโน้มสูงขึ้นเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ และความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบธุรกิจลดน้อยถอยลง การทำธุรกิจแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ตามที่ตกลงไว้ในสัญญาได้ จะต้องมีการชำระหนี้กันเป็นอย่างอื่น เช่น การขอขยายระยะเวลาในการชำระหนี้หรือที่ภาษากฎหมายเรียกว่า “ผ่อนเวลา” การชำระหนี้บางส่วน การตีหลักประกันใช้หนี้เจ้าหนี้ เป็นต้น ในทางปฏิบัติสถาบันการเงินเจ้าหนี้หรือเจ้าหนี้ทั่วไป มีวิธีการในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อยู่ 2 แบบ คือ
1. เป็นการแปลงหนี้ใหม่
2. ไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่
การแปลงหนี้ใหม่
- หนี้เดิมระงับและคู่สัญญาผูกพันกันตามหนี้ใหม่
- กรณีที่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของหนี้ เช่น เพิ่มจำนวนหนี้ที่ลูกหนี้ต้องรับผิดและเปลี่ยนประเภทหนี้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 6788/2552)
ไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่
- หนี้เดิมไม่ระงับ
- การรับสภาพหนี้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 393/2550)
- เปลี่ยนแปลงการชำระหนี้
- เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย
- ไม่เปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของหนี้ ( คำพิพากษาฎีกาที่ 6473/2553, คำพิพากษาฎีกาที่ 2389/2553)
หลักเกณฑ์ในการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้
- ต้องพิจารณาก่อนว่าเป็นเจ้าหนี้มีหลักประกันหรือเจ้าหนี้ไม่มีหลักประกัน
- จำนวนหนี้ของแต่ละเจ้าหนี้
- ต้นทุนและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับจำนวนหนี้
- ได้รับชำระหนี้มากกว่าการบังคับคดีกับทรัพย์สิน
- ลูกหนี้ร่วมหรือผู้ค้ำประกันนำมาหักจากจำนวนหนี้
ประโยชน์จากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
1. ทำให้หนี้สินระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ยังไม่เป็นหนี้เสียและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ไว้ได้
2. เป็นการให้โอกาสลูกหนี้ แก้ไขปัญหาของตนเองภายในระยะเวลาที่กำหนด
3. ทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทนายความ และค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องร้องคดีทางแพ่ง
4. เป็นการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี
หนี้ที่ไม่ควรปรับโครงสร้างหนี้ มีดังต่อไปนี้
1. หนี้ที่เกิดจากการทุจริต คดโกง
2. ลูกหนี้หมดความสามารถในการชำระหนี้
3. กรณีลูกหนี้ตาย ทายาทไม่มีความประสงค์ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการชำระหนี้
4. หนี้ที่เล็งเห็นอยู่แล้วว่าลูกหนี้ไม่มีความสามารถชำระหนี้หรือกิจการไม่มีโอกาสฟื้นฟูได้
การประนีประนอมในศาลและนอกศาล
การทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเองนอกศาล หรือประนีประนอมยอมความกันในคดีที่เจ้าหนี้ฟ้องเฉพาะลูกหนี้และศาลพิพากษาตามยอม มีผลเหมือนกันคือ ทำให้หนี้เดิมระงับไปตาม ป.พ.พ.มาตรา 852 (คำพิพากษาฎีกาที่ 4235/2547,คำพิพากษาฎีกาที่ 6479/2551, คำพิพากษาฎีกาที่ 1732/2550)
ดังนั้น เมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้ต้องพิจารณาว่า จะให้โอกาสลูกหนี้ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น ขยายเวลาในการชำระหนี้หรือไม่ ถ้าให้โอกาสลูกหนี้ ลูกหนี้ก็จะมีโอกาสหาเงินมาชำระหนี้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปฟ้องคดีต่อศาลเป็นคดีแพ่ง เพราะการฟ้องศาลเป็นคดีแพ่ง สิ่งแรกที่ต้องเสียหายคือสูญเสียความสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ สิ่งที่ตามมาคือเสียเงินค่าวางศาล เสียเงินค่าทนายความ และเสียเวลาในการดำเนินคดี ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ปี เมื่อจบคดีในชั้นศาลแล้ว ก็ต้องไปสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งเป็นเรื่องยาก หลังจากนั้นต้องไปยึดทรัพย์สินของลูกหนี้มาขายทอดตลาด ซึ่งในทางปฏิบัติก็หาคนซื้อทรัพย์ได้ยาก กว่าจะได้เงินคืนเจ้าหนี้อาจตายไปก่อนแล้วก็ได้ วิธีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จึงน่าจะมีประโยชน์ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้นะครับ