อายัดทรัพย์นายทุนเงินกู้นอกระบบคืนผู้เสียหาย
เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา มีคดีที่สำนักงานป.ป.ง. อายัดทรัพย์สิน 80 ล้านบาทของบริษัท ชุมแพเงินด่วน โดยบริษัทฯดังกล่าวถูกดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงประชาชน พฤติการณ์โดยย่อ มีการโฆษณาชวนเชื่อ พิมพ์นามบัตร แจกจ่ายให้กับบุคคลทั่วไปว่าปล่อยเงินกู้ รับจัดไฟแนนซ์รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รับจำนอง ขายฝาก คิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำสุดๆ มีชาวบ้านที่มีความประสงค์ต้องใช้เงินด่วน นำโฉนดที่ดินมาให้ยึดหน่วงไว้และมีการให้ลงนามในเอกสารไว้ล่วงหน้า ภายหลังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ไม่ใช่การจดจำนองแต่เป็นการทำสัญญาขายฝาก และจำนวนเงินในสัญญากู้ก็ไม่ตรงกับความจริง กล่าวคือ มีจำนวนเงินในสัญญากู้สูงกว่าที่ได้รับไปจริง การคิดดอกเบี้ยก็เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ปัจจุบันถูกดำเนินคดีอาญาอยู่ที่กองปราบปราม ทนายคลายทุกข์จึงขอนำเรื่องดังกล่าวมาวิเคราะห์ข้อกฎหมายให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจเกี่ยวกับคดีเงินกู้นอกระบบ โดยขออธิบายเป็นรายประเด็นดังนี้
เงินกู้นอกระบบ หมายถึง การกู้ยืมเงินที่ไม่ได้กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินหรือนันแบงก์ ซึ่งต้องขออนุญาตต่อทางราชการ อยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย มีหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข ในการทำธุรกิจที่ชัดเจน คิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดได้ แต่เงินกู้นอกระบบไม่ได้ขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินกว่าที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 กำหนด กล่าวคือ คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ15 ต่อปี แต่เงินกู้นอกระบบคิดดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อเดือน เป็นต้น ซึ่งเป็นการเอาเปรียบประชาชนแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคเกินสมควร มีความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา แต่ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ของรัฐปล่อยปละละเลยจนทำให้นายทุนเงินกู้นอกระบบเหิมเกริม ติดประกาศตามเสาไฟฟ้า แจกนามบัตรตามตลาดนัด ขึ้นคันเอาท์ตามสี่แยก โฆษณาทางสื่อสังคมออนไลน์ เหมือนธุรกิจดังกล่าวทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ประกอบธุรกิจแบบเย้ยฟ้าท้าดิน
ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยเงินกู้นอกระบบที่ประชาชนควรทราบ
1.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับการกู้ยืมเงินและการใช้ทรัพย์ตีใช้หนี้แทนเงิน
การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ
มาตรา 653 การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว
ห้ามคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี
มาตรา 654 ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี
ห้ามคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย
มาตรา 655 ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ แต่ทว่าเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้ แต่การตกลงเช่นนั้นต้องทำเป็นหนังสือ
ส่วนประเพณีการค้าขายที่คำนวณดอกทบต้นในบัญชีเดินสะพัดก็ดี ในการค้าขายอย่างอื่นทำนองเช่นว่านี้ก็ดี หาอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติซึ่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้นไม่
การใช้ทรัพย์สินตีใช้หนี้เจ้าหนี้ ต้องคิดราคาตามราคาท้องตลาด
มาตรา 656 ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทนจำนวนเงินนั้นไซร้ ท่านให้คิดเป็นหนี้เงินค้างชำระโดยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ
ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้ หนี้อันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น ท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ
ความตกลงกันอย่างใด ๆ ขัดกับข้อความดังกล่าวมานี้ ท่านว่าเป็นโมฆะ
2.ตัวบทกฎหมายที่มีบทลงโทษทางอาญา
-พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 บังคับใช้เดือนมกราคม พ.ศ.2476
-ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ข้อ 5 (5)(7)(8), ข้อ 14 บังคับใช้วันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2515
-ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ) ข้อ 1, ข้อ 5 บังคับใช้วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2557
-ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, มาตรา 343
3.กฎหมายเกี่ยวกับการอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน
-พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 48 วรรคสอง และมาตรา 49
วรรคหก ให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหาย
สุดท้ายนี้หวังว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ป.ป.ง.จะเอาจริงกับการดำเนินคดีอาญาและการใช้มาตรการทางแพ่งกับนายทุนเงินกู้นอกระบบนะครับ เพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบประชาชน