จนมุมมาเฟีย รีดผู้บริโภคแทน
ทนายคลายทุกข์ขอนำบทความจากหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ที่เขียนไว้ เกี่ยวกับเรื่องยกร่างปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ และ พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ถ้าไม่วัดกันด้วยผลงาน แต่วัดกันด้วยความสามารถเฉพาะบุคคลที่จะทำตัวให้ปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อได้ตลอด ไม่ขาดระยะ เชื่อว่าชื่อของ นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ ไม่เป็นสองรองใคร ล่าสุดก็สร้างความฮือฮา จัดประชุมระดมสมองภาคเอกชนร่วม 100 ราย เพื่อยกร่างปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์และพ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า ซึ่งน่าจะพุ่งประเด็นไปที่การเพิ่มความเข้มข้น และความทันสมัยในการบังคับใช้กฎหมาย ให้สามารถเข้าถึงการดูแลและแก้ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในบ้านเราเป็นสำคัญ
หลังจากล้มเหลวโดยสิ้นเชิงต่อความพยายามโชว์ผลงานปราบปรามจนเกินเลย ถึงขั้นยกพวกตะลุมบอนกับบรรดาเจ้าของร้านค้า ต้องขึ้นโรงพักฟ้องกันอุตลุดก่อนหน้านี้ เพียงเพราะจะเอาใจยักษ์ใหญ่สหรัฐอเมริกา ปรากฏว่า การระดมสมองครั้งนี้ ผลออกมากลายเป็นว่า หาทางออกด้วยการโยนภาระให้กับประชาชน ด้วยข้อเสนอให้เพิ่มบทลงโทษผู้ซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือให้ทำงานบริการสังคมเพื่อสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และหวังผลได้น้อยมากว่า จะทำให้ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาลดน้อยลงได้
นอกจากปัญหาไม่ลดแล้ว ถ้าข้อกฎมายนี้มีผลบังคับใช้จริงอย่างที่รมช. จะผลักดันให้ได้ใช้ในปี 2553 ผลกระทบลำดับแรกที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ คือ การกระทบกระทั่งและฟ้องร้องกันไปมา ระหว่างเจ้าหน้าที่ที่อ้างสิทธิได้รับมอบหมายจากผู้ประกอบการให้ตามจับผิดกับประชาชนที่ใช้สินค้าปลอม เชื่อเถอะว่า ประชาชนที่เดินขวักไขว่กันตามย่านต่างๆ อย่างน้อยก็ต้องมีสินค้าหนึ่งอย่างที่เป็นของก๊อบปี้ ไม่จำเพาะต้องเป็นแต่พวกเทปผีซีดีเถื่อน หากแต่ยังรวมถึงเสื้อผ้าที่ใส่ กระเป๋า รองเท้า นาฬิกา น้ำหอม เครื่องสำอาง และอีกสารพัด
คำถามคือ เจ้าหน้าที่จะเลือกจับใคร จับได้หมดทุกคนเพื่อความเท่าเทียมหรือไม่ แล้วจะต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่อีกกี่มากน้อยกับการไล่จับคนทั่วประเทศ รวมไปถึงนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย หากต้องมาคอยระมัดระวังตัว การท่องเที่ยวก็ไม่เป็นสุข ชวนให้บรรยากาศท่องเที่ยวย่ำแย่ไปด้วย ท้าได้เลยว่า ลองสุ่มตรวจคนร้อยคน ทั้งร้อยคนต้องมีของปลอมไม่ชิ้นใดก็ชิ้นหนึ่งเป็นอย่างน้อย เปรียบเทียบระหว่างไล่จับคนใช้ของปลอม กับจับคนผลิตของปลอม จับผู้บริโภค ฟันธงได้เช่นกันว่า เอื้อให้ เจ้าหน้าที่นอกคอกหากินสบาย เพราะรัฐไม่มีระบบการตรวจสอบและคัดกรองคนที่เข้ามา ทำหน้าที่ กลายเป็นว่าออกกฎหมายมารองรับคนพวกนี้ได้ใช้อำนาจเป็นที่เพลิดเพลิน ดูได้จากปัญหาที่ยกพวกตีกันที่ย่านพัฒนพงษ์ ก็เป็นตัวอย่างชัดเจนมากที่สุดแล้ว
และทุกวันนี้ร้านค้าต่างๆ ก็เข้าร้องเรียน กับตำรวจถึงพฤติกรรมถูกรีดไถจากพวกอ้างสิทธิเป็นจำนวนมาก เพราะเจ้าของสิทธิตัวจริงไม่มีกำลังพอที่จะออกมาปราบปรามเองได้ ก็ต้องว่าจ้างคนนอกเข้ามาทำให้ ส่งผลให้ขาดการตรวจสอบคุณสมบัติ เจ้าหน้าที่ก่อนทำงาน แถมยังให้การรับรองไม่ได้อีกต่างหากว่า บริษัทที่มารับจ้างนั้น มีความสามารถมากพอจะตรวจสอบว่าใครใช้ของปลอมของจริงได้หรือไม่ หรือแค่ใช้พวกมาก ยัดข้อหา ข่มขู่ การแก้ปัญหาดังกล่าว จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย ที่ว่าง่าย เพราะรู้ๆ กันดีอยู่แล้วว่า ใครมาเฟียตัวแม่ ตัวพ่อ ใครแค่ลูกกระจ๊อก รับช่วงต่อ ขายส่ง ขายปลีก กระจายของ แหล่งค้าอยู่ที่ไหนบ้าง เจ้าหน้าที่รัฐใครทำตัวเป็นนกต่อ ใครอยู่เบื้องหลังสนับสนุน ขนาดรมช. ยังบอกเองว่า มีรายชื่อมาเฟียเป็นบัญชีหางว่าวอยู่ในมือ ถ้าไล่จัดการได้หมดครบถ้วนตามรายชื่อที่ว่า ของปลอมทั้งหลายก็จะหายไปจากตลาดบ้านเราได้แน่
แต่ที่ยากคือ รัฐไร้ฝีมือ ตัดตอนต้นตอปัญหาไม่ได้ เพราะดันมีคนในเข้าไปรู้เห็น แถมคนในก็ใส่เครื่องแบบไปร่วมก๊วนไล่จับกับเขาด้วย แล้วจะได้เรื่องอย่างไร การจัดการผู้ทรงอิทธิพล คือสิ่งที่ชี้วัดว่า มีปัญญา มีความสามารถ และมีความกล้าหาญ จะเข้าไปต่อกรกับคนพวกนี้ได้หรือไม่ ถ้าคำตอบที่ได้คือ ไม่มี ขาดทุกคุณสมบัติที่ว่ามา ทุกอย่างก็ควรจบแค่เพียงเท่านี้ อย่าโยนบาปให้ผู้บริโภค
ขอขอบคุณรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์