ยิงปืนเข้าไปในบ้านที่มีคนอยู่ ถือว่ามีเจตนาฆ่า
1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 569/2563
จำเลยใช้อาวุธลูกปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงโดยสภาพ และกระสุนปืนจะกระจายออกเป็นวงยิงเข้าไปในบ้านที่เกิดเหตุในยามวิกาล โดยจำเลยทราบอยู่แล้วว่ามีผู้เสียหายและบุคคลในครอบครัวของผู้เสียหายพักอาศัยแล้ว จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนอาจถูกผู้เสียหายหรือบุคคลอื่นภายในบ้านที่เกิดเหตุถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยมีเจตนาฆ่า เมื่อจำเลยลงมือกระทำความผิดไปโดยตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเนื่องจากผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นและฐานยิ่งปืนใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชนตาม ป.อ.มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 376
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5505/2559
การที่จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งมีสภาพร้ายแรงยิงเข้าไปที่ขอบหน้าต่างด้านบนของห้องของบ้านเกิดเหตุ โดยที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเมื่อกระสุนปืนกระทบขอบหน้าต่างแล้วจะหักเหไปในทิศทางใด จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนอาจแฉลบไปถูกผู้ที่อยู่ภายในห้องถึงแก่ชีวิตได้ จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น
3.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13113/2556
จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์โดยมีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายไปยังบ้านที่เกิดเหตุพร้อมกับ ว. แล้ว จำเลยที่ 2 เรียกชื่อเล่นของ น. ว่า ปู เมื่อผู้ตายตะโกนว่าปูไม่อยู่ ว. ใช้อาวุธปืนยิงไปที่ประตูบ้านถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย จากนั้นจำเลยทั้งสองและ ว. พากันหลบหนีไป ว. ไปถอดหมวกนิรภัยและเสื้อที่สวมใส่ในขณะก่อเหตุที่บ้านของจำเลยทั้งสองก่อนจะหลบหนีไป การกระทำของจำเลยทั้งสองบ่งชี้ว่ามีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับ ว. จึงเป็นตัวการร่วมกัน แต่การที่ ว. ใช้อาวุธปืนยิงไปที่ประตูบ้าน 2 นัด หลังจากผู้ตายตะโกนบอกว่าปูไม่อยู่ กระสุนปืนถูกผู้ตายถึงแก่ความตายนั้นเป็นการกระทำที่เล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนอาจถูกคนในบ้านถึงแก่ความตายเท่านั้น มิได้ประสงค์ต่อผลโดยตรงที่จะยิงให้ถูก น. เนื่องจากมองไม่เห็นว่า น. อยู่ที่ใด จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองในฐานเป็นตัวการร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คงลงโทษได้ในฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น โดยบุคคลจะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด บุคคลนั้นจะต้องได้รู้ข้อเท็จจริงนั้นตาม ป.อ. มาตรา 62 วรรคท้าย
4.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6636/2554
เมื่อความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7 และมาตรา 8 ทวิ ต่างเป็นความผิดสำเร็จได้ในตัวเองแยกจากกันได้ การพิจารณาว่าจำเลยจะกระทำความผิดตามมาตรา 8 ทวิ หรือไม่ จึงไม่จำต้องพิจารณาว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 7 มาก่อน และมาตรา 8 ทวิ ก็ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าใช้บังคับใช้กับอาวุธปืนที่มีหรือไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของนายทะเบียนประทับ ดังนั้น ต้องถือว่าใช้บังคับกับอาวุธปืนทั้งที่มีและไม่มีเครื่องหมายประจำอาวุธปืนของนายทะเบียนประทับ ซึ่งกรณีปกติย่อมเป็นความผิดตามบทบัญญัติ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่เมื่อมาตรา 8 ทวิ วรรคสาม บัญญัติว่า ความในมาตรานี้มิให้บังคับแก่ (1) เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทหาร และตำรวจ ซึ่งอยู่ในระหว่างปฎิบัติหน้าที่ เมื่อจำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านถือเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่นพาอาวุธปืนของกลางติดตัวออกไประงับเหตุทะเลาะวิวาทอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย แม้อาวุธปืนของกลางจะไม่มีเครื่องหมายทะเบียนประจำอาวุธปืนและจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนของกลางก็ตาม ย่อมไม่ใช้บังคับแก่จำเลยในกรณีนี้ด้วย ดังนั้น การกระทำของจำเลยส่วนนี้จึงไม่เป็นความผิดฐานพาอาวุธปืน โดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว
5.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5592/2533
การที่จำเลยใช้ปืนอันเป็นอาวุธที่ร้ายแรงยิงเข้าไปในบ้านผู้เสียหายในยามวิกาล ซึ่งวิญญูชนทั่วไปย่อมรู้ดีว่าต้องมีบุคคลหลับนอนหรือพักอาศัยอยู่ในบ้าน แม้กระสุนปืนที่จำเลยยิงเข้าไปในบ้านจะไม่ถูกผู้เสียหายหรือผู้ใดที่อยู่ในบ้าน แต่เมื่อตำแหน่งที่ถูกกระสุนปืนนัดหนึ่งห่างจากผู้เสียหายเพียง 1 เมตร อีกนัดหนึ่งถูกใต้ขอบหน้าต่างบ้าน ดังนี้ การกระทำของจำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่ามีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย.
6.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 573/2539
จำเลยยิงปืนเข้าไปในห้องน้ำโดยรู้ว่าผู้เสียหายอยู่ในนั้นจำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่ากระสุนปืนอาจถูกผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้จึงมีความผิดฐาน พยายามฆ่า
#ปรึกษาคดี โทร.02-9485700, 081-6161425, 081-8217470, 081-6252161