เตือนภัยแอพหาคู่ หลอกให้โชว์ของลับและตบทรัพย์
ทนายคลายทุกข์ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายจำนวนหลายราย ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ นักการเมืองท้องถิ่น หมอ และอีกหลายอาชีพ ว่าได้ไปกดลิ้งค์ใช้บริการแอพหาคู่ต่าง ๆ เช่น แอพปาร์ตี้ หรือทางไลน์ ซึ่งเชิญชวนให้ไปใช้บริการ หลังจากนั้นก็จะหลอกล่อยั่วกามารมณ์ โดยการเชิญชวนฝ่ายชายที่มีความสนใจหญิงให้บริการ เช่น ยุยงส่งเสริมให้แก้ผ้า โชว์ของลับ สำเร็จความไคร่ของตัวเอง หลังจากนั้นก็ได้ให้โชว์ผ่านวีดีโอคอล และก็พยายามจะยั่วยุ ฝ่ายชายก็เกิดอารมณ์ทางเพศ และก็ทำตามที่หญิงใช้บริการพวกนั้นหลอกล่อ ส่วนหญิงบริการเมื่อฝ่ายชายทำการโชว์ของลับ และขณะกำลังสำเร็จความไคร่ก็จะมีการบันทึกคลิปวีดีโอไว้ หลังจากโชว์ของลับก็จะเปลี่ยนจากหญิงผู้ให้บริการเป็นมิจฉาชีพ โดยการส่งคลิปการโชว์ของลับหรือการสำเร็จความไคร่ลูกค้าที่เป็นผู้ชาย ส่งกลับไปให้กับฝ่ายผู้เสียหาย และเรียกเงิน ล่าสุดที่ทนายคลายทุกข์ได้รับเรื่องร้องเรียน เรียกเงิน 100,000, 500,000 จนถึง 5 ล้านบาท เป็นต้น โดยข่มขู่ว่าไม่ยอมจ่ายเงินก็จะนำคลิปโชว์ของลับไปเผยแพร่ให้โลกรู้ และจะให้เกิดความอับอาย ซึ่งการกระทำดังกล่าวทนายคลายทุกข์ขอให้ความรู้กับประชาชนว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 338 ซึ่งวางหลักว่า ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลผู้เสียหายได้รับความเสียหาย
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งที่เป็นความผิดฐานรีดเอาทรัพย์และเป็นความผิดฐานกรรโชก การที่จะเป็นความผิดรีดเอาทรัพย์ได้นั้นจะต้องเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และเจ้าของข้อเท็จจริงประสงค์จะปกปิดไว้ ไม่ต้องการให้คนอื่นรู้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและผิดศีลธรรมของประชาชนก็ได้ หากมีใครไปข่มขู่แล้วว่าจะไปเปิดเผยต่อผู้อื่น จึงมีความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ แต่ถ้าเกิดเป็นเรื่องที่มิจฉาชีพสร้างเรื่องขึ้นมาเอง ไม่ใช่เรื่องจริง ไม่เป็นความลับ และไปข่มขู่ว่าจะแฉพฤติกรรมเหล่านี้เรียกว่ากรรโชก รีดเอาทรัพย์มีควาผิดคนละมาตรากัน
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12685/2558
การขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 338 หมายความว่า การขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยเหตุการณ์ข้อเท็จจริงที่ไม่ประจักษ์แก่บุคคลทั่วไป และเป็นข้อเท็จจริงที่เจ้าของความลับประสงค์จะปกปิดไม่ให้บุคคลอื่นรู้ ดังนี้ ความลับจึงไม่จำเป็นต้องเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือผิดศีลธรรมอันดีของประชาชน หากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและเจ้าของข้อเท็จจริงประสงค์จะปกปิดไม่ให้บุคคลอื่นรู้ก็ถือว่าเป็นความลับแล้ว เมื่อฎีกาของจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีภริยาอยู่แล้ว แต่จำเลยกับผู้เสียหายสมัครใจมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกันมาประมาณ 1 ปี ข้อเท็จจริงที่จำเลยกับผู้เสียหายมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกันจึงเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง เมื่อเป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรมอันดีของประชาชน แสดงว่าผู้เสียหายประสงค์จะปกปิดไม่ให้บุคคลอื่นโดยเฉพาะภริยาจำเลยรู้เรื่องดังกล่าว เรื่องนั้นจึงเป็นความลับของผู้เสียหาย การที่จำเลยขู่เข็ญผู้เสียหายว่าหากผู้เสียหายไม่นำเงินจำนวน 20,000 บาท มาให้จำเลย จำเลยจะนำเรื่องความสัมพันธ์ฉันชู้สาวระหว่างจำเลยซึ่งมีครอบครัวแล้วกับผู้เสียหายไปเปิดเผยต่อบุคคลอื่น จึงเป็นการขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับของผู้เสียหาย ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 338
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 416/2561
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 145 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีเด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับ... ห้ามมิให้ศาลสั่งกักขังเด็กหรือเยาวชนแทนค่าปรับ แต่ให้ศาลส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมในสถานที่ที่กำหนดไว้..." และวรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับ แต่ไม่มีเงินชำระค่าปรับ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 30/1 มาตรา 30/2 และมาตรา 30/3 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาใช้บังคับโดยอนุโลม" จากบทบัญญัติดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า กรณีเด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับ ไม่ให้มีการกักขังแทนค่าปรับ คงให้ส่งไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมเท่านั้น ซึ่งเป็นบทบัญญัติเฉพาะและเป็นข้อยกเว้น ป.อ. มาตรา 29 ที่ให้กักขังแทนค่าปรับ หรือยึดทรัพย์สิน อายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับ ซึ่งเป็นบททั่วไปเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพ และวิธีปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนให้สามารถที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้และกลับคืนสู่สังคมในสภาพที่ดีขึ้น เมื่อการบังคับคดีตามคำพิพากษาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนเสร็จสิ้น โดยจะเห็นได้จากวรรคสองแห่งมาตรา 145 ดังกล่าว ที่ให้นำมาตรา 30/1 มาตรา 30/2 และมาตรา 30/3 แห่ง ป.อ. มาใช้โดยอนุโลมเท่านั้น มิได้กล่าวถึงมาตรา 29 แห่ง ป.อ. แต่ประการใด โจทก์ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ออกหมายยึดทรัพย์สินหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยใช้ค่าปรับตามคำพิพากษาในกรณีที่จำเลยเป็นเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 29 วรรคหนึ่ง(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2560)
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1188/2561
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยนำภาพและวิดีโอลามกส่งเข้าระบบคอมพิวเตอร์ ส่งให้บุตรสาวโจทก์ดูเพื่อประจานโจทก์ ซึ่งมีเพียงจำเลยและบุตรสาวโจทก์เท่านั้นที่มีรหัสในการเข้าดูประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าดูได้หากไม่ทราบรหัส จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (4)
จำเลยส่งข้อความทางผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตถึงโจทก์หลายครั้ง ขู่เข็ญโจทก์ให้จ่ายเงินจำเลย มิเช่นนั้นจะเปิดเผยความลับรูปภาพและวิดีโอที่โจทก์ไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกับชายอื่น ในขณะที่ยังไม่ได้หย่าขาดจากจำเลย การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการข่มขืนใจผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญจะเปิดเผยความลับ ซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหายครบองค์ประกอบความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมมอบเงินให้ตามที่จำเลยขู่เข็ญ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามรีดเอาทรัพย์
สุดท้ายนี้ฝากไปถึงชายสูงวัย หรือผู้มีอันจะกินและมีความมักมากในกามารมณ์ ก็ต้องระมัดระวังมิฉะนั้นจะตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ