ข้อความหมิ่นประมาทต้องพิจารณาจากความรู้สึกและความเข้าใจของบุคคลทั่วไป/วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไรไม่เป็นหมิ่นประมาท
#หมิ่นประมาท #การใส่ความผู้อื่น #การกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3167/2545
การพิจารณาว่าถ้อยคำหรือข้อความใดจะเป็นการใส่ความผู้อื่นจนทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังหรือไม่ ต้องพิจารณาจากการรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกและความเข้าใจในถ้อยคำหรือข้อความนั้นของวิญญูชนทั่ว ๆ ไปเป็นเกณฑ์ว่าเป็นหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 หรือไม่
ข้อความที่จำเลยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เป็นข้อความทั่ว ๆ ไป ที่วิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติต่อประชาชนที่มาร่วมชุมนุมตามสิทธิที่จะทำได้ในระบอบประชาธิปไตยว่าไม่เหมาะไม่ควรเท่านั้น ไม่มีข้อความตอนใดที่เป็นการกล่าวร้ายใส่ความแม้จะมีคำว่า คนโรคจิตหรือบ้าอำนาจอยู่ด้วยก็เป็นถ้อยคำที่จำเลยกล่าวออกมาด้วยความรู้สึกที่เห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ควรกระทำการใด ๆ รุนแรงต่อประชาชนผู้มาชุมนุมเท่านั้น มิได้กล่าวหาถึงขั้นว่าประพฤติชั่วกระทำการขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดีหรือฉ้อราษฎร์บังหลวง นอกจากนี้ถ้อยคำดังกล่าวมิได้ระบุเฉพาะเจาะจงว่าเป็นผู้ใดถึงแม้จะระบุถึงกองปราบปรามอยู่ด้วย ก็เป็นกล่าวโดยรวม มิได้ระบุตัวเจ้าพนักงานตำรวจในกองปราบปรามคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ หรือตำรวจหน่วยใดในกองปราบปรามที่ระบุได้แน่นอน ดังนั้นเจ้าพนักงานตำรวจที่สังกัดกองปราบปรามคนใดคนหนึ่งจึงไม่อาจกล่าวอ้างว่าเป็นผู้เสียหายได้ โจทก์ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ถึงแม้จะทำหน้าที่กำกับดูแลกองปราบปรามก็ไม่เป็นผู้เสียหายที่จะนำคดีมาฟ้องจำเลยได้