คู่มือพนักงานติดตามหนี้
ปรัชญาและจรรยาบรรณในการติดตามหนี้
ปรัชญาของพนักงานติดตามหนี้ ก่อนอื่นพนักงานติดตามหนี้จะต้องเข้าใจก่อนว่า จะต้องเข้าใจความหมายของคำว่าหนี้ หมายถึง เงินหรือทรัพย์สินที่ลูกหนี้มีหน้าที่ต้องชำระให้กับเจ้าหนี้ตามกฎหมาย การติดตามหนี้ พนักงานติดตามหนี้จะต้องมีปรัชญาและจรรยาบรรณในการทำงานและทำงานอยู่ในกรอบของกฎหมายและศีลธรรม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 ได้บัญญัติไว้ว่า “ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคน ต้องกระทำโดยสุจริต” พนักงานติดตามหนี้จะต้องเข้าใจว่าการติดตามหนี้จะต้องทำตามที่กฎหมายกำหนดในการเร่งรัดให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ด้วยวิธีการที่สุจริต ใช้ถ้อยคำที่สุภาพ ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือสร้างความรำคาญ หรือสร้างความไม่สบายใจให้กับลูกหนี้ หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมายและอาจต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา
ภาพลักษณ์ขององค์กรจะเสียไปด้วย ถ้าพนักงานติดตามหนี้ทวงหนี้โดยไม่มีจรรยาบรรณและใช้วิธีการที่รุนแรง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์
ปัจจุบันรัฐบาลกำลังออกกฎหมายฉบับใหม่ที่เรียกว่า กฎหมายว่าด้วยการทวงหนี้ที่เป็นธรรม ซึ่งจะกำหนดกติกามารยาทที่ค่อนข้างจะรัดกุม ดังนั้นพนักงานติดตามหนี้ของเจ้าหนี้ผู้ให้สินเชื่อจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม หากยังไม่มีการทวงหนี้ที่มีระเบียบแบบแผน อาจจะมีปัญหาทางด้านกฎหมายได้ในอนาคต
ดังนั้นปรัชญาในการทำงานของพนักงานติดตามหนี้ จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ซึ่งพนักงานติดตามหนี้ทุกคนจะต้องยึดถือปฏิบัติในการทำงานทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการติดตามหนี้เป็นจำนวนมาก
อ.เดชา กิตติวิทยานันท์
วิทยากรฝึกอบรม