รถป้ายแดงมีปัญหาตลอด
ดิฉันเช่าซื้อรถยนต์ป้ายแดง สัปดาห์แรกรถดับกลางถนนเข้าศูนย์บอกขั้วแบตหลวม ประมาณ 1 เดือนครึ่งขับได้ประมาณ 2 สัปดาห์ เกิดอาการดับกลางถนน เข้าศูนย์บอกกล่องดำตัวควบคุมระบบทำงานผิดปกติ เปลี่ยนกล่องดำรถก็ยังดับเหมือนเดิม ต่อมาขับรถไปดับที่ธ. กรุงไทย จึงโทรให้ช่างที่ศูนย์มาขับเอารถไปซ่อม ดิฉันไม่มีที่พึ่งจริงๆ คะไม่รู้จะทำอย่างไร ถ้าซ่อมรอบนี้ออกมายังดับอีกดิฉันก็ไม่กล้าขับเพราะขนาดทำความเร็วอยู่ก็ดับ ดิฉันจะพอมีทางยกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ไหม จะเป็นหนี้ส่วนเกินเท่าไหร่ ถ้าไม่มากนักดิฉันยินดีจ่ายเพราะซื้อมาได้แต่ซ่อม แล้วต่อไปจะเป็นอย่างไร ดิฉันใช้สิทธิ์ กบข.ซื้อและจ่ายล่วงหน้าไว้ 6 งวด จะเริ่มจ่ายอีก 1 มิย.56 ดิฉันไม่รู้จะทำอย่างไร บางที่คิดว่าพอถึง มิย.จะไม่จ่ายงวดให้มันเสียเครดิตไปเลยขอความกรุณาช่วยแนะนำทางออกหน่อยคะ
คำแนะนำสำนักงานทนายความ ทนายคลายทุกข์
1. สัญญาเช่าซื้อเป็นกรณีผู้ขอสินเชื่อจากผู้ให้เช่าซื้อเพื่อนำมาชำระค่าสินค้าเท่านั้น ผู้ให้เช่าซื้อส่วนใหญ่มักมีข้อสัญญายกเว้นความรับผิดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้และสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาที่ไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จะตกลงกันอย่างไรก็ได้ ดังนั้น จึงไม่สามารถยกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้
2. ข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ศาลจะเป็นคนวินิจฉัยเมื่อมีการฟ้องร้องคดี
3. สินค้าที่ชำรุดบกพร่องจนไม่สามารถซ่อมแซมได้และหากใช้ต่อไปอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและร่างกายผู้บริโภคขอเปลี่ยนสินค้าได้ ตามพรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค 2551 มาตรา 41 และผู้บริโภคยังสามารถที่จะเรียกค่าเสียหายเพื่อการลงโทษได้ไม่เกิน 2 เท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด หากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจมีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือจงใจให้ได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหาย
4. แนะให้ให้เข้ามาที่สำนักงานทนายคลายทุกข์ เพื่อฟ้องเจ้าของผลิตภัณฑ์และผู้ขายรถยนต์คันดังกล่าวต่อไป
5. ศาลที่ท่านจะฟ้องคดีได้คือมูลคดีเกิดและผู้ประกอบธุรกิจจะมีสำนักทำการงานตั้งอยู่ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 4(1)
6. การฟ้องคดีผู้บริโภคได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมตามมาตรา 18
ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551
มาตรา 18 ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย การยื่นคำฟ้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในคดีผู้บริโภคซึ่งดำเนินการโดยผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคให้ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ไม่รวมถึงความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นที่สุด
ถ้าความปรากฏแก่ศาลว่าผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคนำคดีมาฟ้องโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เรียกร้องค่าเสียหายเกินสมควร ประพฤติตนไม่เรียบร้อย ดำเนินกระบวนพิจารณาอันมีลักษณะเป็นการประวิงคดีหรือที่ไม่จำเป็น หรือมีพฤติการณ์อื่นที่ศาลเห็นสมควร ศาลอาจมีคำสั่งให้บุคคลนั้นชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้รับการยกเว้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนดก็ได้ หากไม่ปฏิบัติตาม ให้ศาลมีอำนาจสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ในกรณีตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ถ้าศาลเห็นว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นผู้รับผิดเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของคู่ความทั้งสองฝ่าย ให้ศาลพิพากษาในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมโดยสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนั้นชำระต่อศาลในนามของผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคซึ่งค่าฤชาธรรมเนียมที่ผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคนั้นได้รับยกเว้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามที่ศาลเห็นสมควร
มาตรา 41 ในคดีที่ผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ผู้ประกอบธุรกิจรับผิดในความชำรุดบกพร่องของสินค้า หากศาลเชื่อว่าความชำรุดบกพร่องดังกล่าวมีอยู่ในขณะส่งมอบสินค้านั้นและไม่อาจแก้ไขให้กลับคืนสภาพที่ใช้งานได้ตามปกติหรือถึงแม้จะแก้ไขแล้วแต่หากนำไปใช้บริโภคแล้วอาจเกิดอันตรายแก่ร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัยของผู้บริโภคที่ใช้สินค้านั้น ให้ศาลมีอำนาจพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนสินค้าใหม่ให้แก่ผู้บริโภคแทนการแก้ไขซ่อมแซมสินค้าที่ชำรุดบกพร่องนั้นก็ได้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงลักษณะของสินค้าที่อาจเปลี่ยนทดแทนกันได้ พฤติการณ์ของผู้ประกอบธุรกิจ ตลอดจนความสุจริตของผู้บริโภคประกอบด้วย และหากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากการใช้สินค้าหรือได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สินค้านั้น ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้บริโภคชดใช้ค่าใช้ทรัพย์หรือค่าเสียหาย แล้วแต่กรณี ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนั้นได้ตามที่เห็นสมควร
การฟ้องคดีตามวรรคหนึ่ง ถ้าผู้ถูกฟ้องมิใช่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าสินค้านั้น ให้ศาลมีคำสั่งเรียกผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าดังกล่าวเข้ามาในคดีตามมาตรา 57 (3) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และมีอำนาจพิพากษาให้บุคคลดังกล่าวร่วมรับผิดในหนี้ที่ผู้ประกอบธุรกิจตามวรรคหนึ่งมีต่อผู้บริโภคได้ด้วย
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 4 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น
(1) คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่