ค่ามัดจำ การเช่าบ้าน
หากเพื่อนสมาชิกเคยเป็นผู้เช่า..จะรู้ดีว่า...เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเช่าบ้านแล้วย้ายออก เจ้าของบ้านจะหาทางริบเงินค่ามัดจำเราให้ได้มากที่สุด เช่น...ค่าทาสีใหม่ (ก่อนเช่า สีก็ไม่ได้ใหม่เอี่ยมนี่?) ค่าทำความสะอาดโหดๆ (เย้ย...เราเก็บกวาดขยะ ปัด กวาด ซะเรียบร้อยแล้ว) เราจะมีวิธีวางแผนรับมือกับพวกเจ้าของหน้าเลือดอย่างไรครับ เราสามารถดักคอเขาไว้ก่อนได้ไหม เช่น ไปถ่ายรูปห้องพักไว้ก่อนย้ายเข้า แล้วให้เข้าของบ้านเซ็นต์รับรองสภาพบ้านของเขาเอง พอเราย้ายออก... หากเจ้าของบ้านจ้องจะริบค่าซ่อม ทาสี และความสะอาดแพงๆ เราก็งัดรูปออกมาโชว์เลย... พอมีหวังไหมครับ..แต่อย่างไรเสีย เงินอยู่ในมือเขาแล้ว..ได้คืนยากมากๆ..ทำงัยดีครับ
คำแนะนำทนายคลายทุกข์
1. เนื่องจากการทำสัญญาเช่าที่พักอาศัยหรือบ้าน ตามกฎหมายกำหนดหน้าที่และความรับผิดของผู้ให้เช่าไว้ ว่าจะต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้เช่านั้นในสภาพอันซ่อมแซมดีแล้ว เพราะหากผู้ให้เช่าส่งมอบทรัพย์สินซึ่งเช่านั้น โดยสภาพไม่เหมาะสมแก่การที่จะใช้เพื่อประโยชน์ที่เช่ามา ผู้เช่าย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้ ตามความ ป.พ.พ. มาตรา 546,548
2. ท่านย่อมมีสิทธิที่จะถ่ายรูปบ้านที่เช่าไว้เป็นหลักฐานถึงสภาพของทรัพย์ที่เช่าก่อนทำสัญญาได้ว่ามีสภาพเป็นอย่างไร แต่จะนำมาเป็นหลักฐานการโต้แย้งข้ออ้างกับหักค่าวางมัดจำของผู้ให้เช่า เมื่อผู้เช่าออกจากบ้านเช่าไปเห็นทีทางฝ่ายผู้ให้เช่า คงไม่ยินยอมให้ท่านกระทำหรือให้ท่านเช่า แต่ถ้าหากผู้ให้เช่าได้กำหนดเงื่อนไขที่จะนำมาอ้างเป็นเหตุริบเงินมัดจำมีลักษณะหรือมีผลให้ผู้เช่า ต้องรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ ตามปกติ จึงย่อมเป็นเหตุริบมัดจำมีลักษณะหรือมีผลให้ผู้เช่า เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม กฎหมายจึงกำหนดให้ข้อสัญญานั้นมีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น ตามมาตรา 4 วรรค 3 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540
ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 546 ผู้ให้เช่าจำต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้เช่านั้นในสภาพอันซ่อมแซมดีแล้ว
มาตรา 548 ถ้าผู้ให้เช่าส่งมอบทรัพย์สินซึ่งเช่านั้นโดยสภาพไม่เหมาะแก่การที่จะใช้เพื่อประโยชน์ที่เช่ามา ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540
มาตรา 4 ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น
ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้ตีความสัญญาสำเร็จรูปไปในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายซึ่งมิได้เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปนั้น
ข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น
(1) ข้อตกลงยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดที่เกิดจากการผิดสัญญา
(2) ข้อตกลงให้ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด
(3) ข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ
(4) ข้อตกลงให้สิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใด หรือปฏิบัติตามสัญญาในระยะเวลาที่ล่าช้าได้โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
(5) ข้อตกลงให้สิทธิคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเรียกร้องหรือกำหนดให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญา
(6) ข้อตกลงในสัญญาขายฝากที่ผู้ซื้อฝากกำหนดราคาสินไถ่สูงกว่าราคาขายบวกอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละสิบห้าต่อปี
(7) ข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อที่กำหนดราคาค่าเช่าซื้อ หรือกำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับภาระสูงเกินกว่าที่ควร
(8) ข้อตกลงในสัญญาบัตรเครดิตที่กำหนดให้ผู้บริโภคต้องชำระดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าใช้จ่ายหรือประโยชน์อื่นใดสูงเกินกว่าที่ควรในกรณีที่ผิดนัดหรือที่เกี่ยวเนื่องกับการผิดนัดชำระหนี้
(9) ข้อตกลงที่กำหนดวิธีคิดดอกเบี้ยทบต้นที่ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระสูงเกินกว่าที่ควร
ในการพิจารณาข้อตกลงที่ทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งตามวรรคสาม จะเป็นการได้เปรียบเกินสมควรหรือไม่ ให้นำมาตรา 10 มาใช้โดยอนุโลม