ทุจริตแบงก์พุ่งแก้กม.บี้ข้ามชาติ
ทนายคลายทุกข์ขอนำข่าวประชาสัมพันธ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ป.ป.ช.เผยคดีทุจริตธนาคารมีแนวโน้มพุ่ง ชงแก้กฎหมายล่าคนทุจริตในต่างประเทศ
นายวีระชาติ ศรีบุญมา ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและคดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากสถิติคดีอาญาที่ธปท. ร้องทุกข์กล่าวโทษจากอดีตมาถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2551 พบว่ามีคดีทุจริตธนาคารพาณิชย์ 30 คดี มูลค่า 4.69 หมื่นล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้คดีถึงที่สุดแล้ว 6 คดี อยู่ในชั้นอัยการ 2 คดี และในชั้นศาล 22 คดี ซึ่งในจำนวนนี้เป็นคดีทุจริตธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ (บีบีซี) ซึ่งมีมูลค่าความเสียหาย 2 หมื่นล้านบาท ล่าสุดในการติดตามทรัพย์สินคืนมาได้แล้ว 1,537 ล้านบาท
นายภักดี โพธิศิริ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยในงานสัมมนา “ความร่วมมือในการป้องปรามการทุจริตและการบังคับใช้กฎหมายธุรกิจสถาบันการเงิน” ว่า ปัญหาการทุจริตสถาบันการเงินขณะนี้ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะลดน้อยลง คาดว่าในปี 2553 นี้ยังน่าจะมีเพิ่มขึ้นอีก
นายภักดี กล่าวว่า ในปี 2551 มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคดีทุจริตในสถาบันการเงิน 56 เรื่อง คิดเป็น 30% ของคดีทั้งหมดที่ร้องเรียนมายังป.ป.ช. เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่มีเรื่องร้องเรียน 24 เรื่อง
ทั้งนี้ จากคดีทุจริตสถาบันการเงินดังกล่าวที่ป.ป.ช. ตรวจสอบ พบว่าเป็นเรื่องการกระทำผิดคนเดียวประมาณ 50% ส่วนอีก 50% เป็นเรื่องที่กระทำร่วมกันหลายคน และถ้าดูในรายละเอียดจะพบว่า 25% เป็นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคณะกรรมการสถาบันการเงิน อีก 25% ร้องเรียนผู้บริหารสถาบันการเงิน และอีก 50% ร้องเรียนผู้ปฏิบัติงาน
“ขณะนี้มีปัญหาอยู่ว่าการติดตามทรัพย์สินยังทำได้น้อย โดยเฉพาะทรัพย์สินที่ไปเกี่ยวข้องหรืออยู่ในต่างประเทศ จึงต้องร่วมกันแก้ไข” นายภักดี กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไทยได้เตรียมปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องภายในประเทศ เพื่อจะ ได้สามารถลงนามในอนุสัญญา สหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (UNCAC) แล้ว
ทั้งนี้ หากรัฐให้ความสำคัญและเร่งพิจารณากฎหมายเหล่านี้ให้เร็วขึ้น ก็จะทำให้ไทยลงนามในสัตยาบัน UNCAC ได้ทันภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ซึ่งจะช่วยให้การติดตามทรัพย์ในคดีทุจริตที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศทำได้ดีขึ้น
อนุสัญญา UNCAC กำหนดให้ประเทศสมาชิก 134 ประเทศ ต้องให้ความร่วมมือในการดำเนินคดีทุจริต คือ 1.ให้ความร่วมมือระหว่างประเทศในการจับกุมผู้กระทำผิด ที่เข้าไปอยู่ในประเทศสมาชิกได้ 2.สามารถประสานงานติดตามนำทรัพย์สินจากคดีทุจริตคืนได้ และ 3.ช่วยขยายนิยามคำว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐในการสืบคดี และให้เกี่ยวข้องไปถึงหน่วยงานทั้งของภาครัฐและเอกชนด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการทุจริตในสถาบันการเงินมักแก้ไขยาก ทางที่ดีควรมุ่งป้องกัน เพิ่มมาตรการในการตรวจสอบทรัพย์สินของบุคลากรที่นอกเหนือจากผู้บริหารระดับสูงหรือกรรมการผู้จัดการ โดยอาจจะตรวจถึงระดับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องการรับจ่าย โอนเงินด้วย
ขอขอบคุณรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์