เร่งดันก.ม.บัตรเครดิตออกใช้ใน6เดือนยธ.ขอเป็นเจ้าภาพ-เงินกู้เถื่อนหันดึงลูกค้าผ่านเอสเอ็มเอส
ยธ.เร่งผลักดันกฎหมายบัตรเครดิตออกใช้ภายใน 6 เดือน เตรียมถกคลังขอเป็นเจ้าภาพ ด้านธปท.เผยเงินกู้เถื่อนพลิกเกมหาลูกค้าผ่านเอสเอ็มเอสแทนป้ายตามเสาไฟฟ้า ประสานไอซีทีช่วยสกัดลดความเสียหาย เชื่อหากกฎหมายคลอดเร็วช่วยดูแลบัตรเครดิตได้มากขึ้น
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เป็นประธานในงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจบัตรเครดิต พ.ศ.... โดยกล่าวว่า หากกระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพดำเนินการคาดว่าจะออกกฎหมายฉบับนี้ได้ภายใน 6 เดือน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจบัตรเครดิตมีความคาบเกี่ยวกับกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงการคลัง เพราะทุกวันนี้บัตรเครดิตก่อให้เกิดปัญหาสังคม และประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายมาควบคุมทำให้เกิดคดีที่เกี่ยวข้องกับบัตรเครดิตจำนวนมาก แต่ตามมารยาทจะหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก่อน
"ที่ผ่านมารู้สึกเป็นห่วงเรื่องการคิดดอกเบี้ยของบัตรเครดิตที่สูงมากเกินความเป็นจริง โดยผู้ประกอบการใช้วิธีหลีกเลี่ยงจากการเก็บดอกเบี้ยมาเป็นค่าธรรมเนียม บางรายมีการเรียกเก็บต่อปีสูงถึง 60% ซึ่งการทำธุรกิจต้องมีกำไรแต่พอสมควร" นายพีระพันธุ์กล่าวและว่า นอกจากนี้ ยังมีกรณีการนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้สมัครบัตรเครดิตไปใช้ต่อในเชิงธุรกิจอื่น โดยที่เจ้าของบัตรไม่ได้อนุญาต และไม่มีกฎหมายคุ้มครอง เมื่อเป็นคดีความก็เทียบเคียงกับกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา ซึ่งบางครั้งเวลาเกิดคดีความจะใช้เวลานานในการพิจารณาลงโทษ หากกฎหมายบัตรเครดิตมีผลบังคับใช้ จะทำให้การพิจารณาคดีและลงโทษเร็วขึ้น โดยบทลงโทษคาดว่าจะรุนแรงกว่าการเทียบใช้กับกฎหมายอื่น
นายวีระชาติ ศรีบุญมา ผู้อำนวยการสำนักคดีฝ่ายกฎหมาย และคดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจปล่อยเงินกู้เถื่อนมีการเปลี่ยนแปลงวิธีติดต่อลูกค้าทันสมัยมากขึ้น โดยส่งข้อความสั้น (เอสเอ็มเอส) ผ่านโทรศัพท์มือถือ จากเดิมจะใช้การติดประกาศตามเสาไฟฟ้า ซึ่ง ธปท.ได้ประสานกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อให้มีการควบคุมดูแลไม่ให้เกิดผลเสียหายแก่ประชาชน
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีขบวนการปลอมแปลงบัตรเครดิตและหลอกลวงอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์ เพื่อหลอกขอข้อมูลจากลูกค้าผ่านทางโทรศัพท์ โดยพบว่ากระบวนการดังกล่าวมีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ และพบว่ามีการคัดลอกข้อมูลของลูกค้า และการทวงหนี้โหด ข่มขู่ด้วยวาจาอย่างรุนแรง และทวงหนี้ผิดปกติ ซึ่งธปท. มีบทลงโทษ ตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงินมาตรา 5 ซึ่งมีบทลงโทษผู้ประกอบการที่กระทำผิดคือจำคุก 2-5 ปี มีโทษปรับ 1-5 แสนบาท
อย่างไรก็ตาม ธปท. เชื่อว่าหลังจากที่กระทรวงยุติธรรมจะผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจบัตรเครดิต มีผลบังคับใช้ภายใน 6 เดือน คงจะช่วยให้การดูแลธุรกิจบัตรเครดิตทั้งระบบมีการดูแลที่เป็นระบบมากขึ้น สร้างความโปร่งใสและมีการตรวจสอบที่ดี ป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชน
ขอขอบคุณรายงานข่าวจากหนังสิอพิมพ์คมชัดลึก