ธปท.จับแบงก์ ปรับหนี้ ต่อลมหายใจเอสเอ็มอี
ทนายคลายทุกข์ขอนำเสนอข่าวเกี่ยวกับแบงก์ชาติเล็งขุดหลักการคณะกรรมการปรับโครงสร้างหนี้ ที่เคยประสบความสำเร็จในการแก้หนี้เสียช่วงปี 40 กลับมาใช้ โดยเป็นตัวกลาง จับแบงก์นั่งคุยปรับโครงสร้างหนี้ให้เอสเอ็มอี เพื่อช่วยให้ส่งหนี้-ทำธุรกิจต่อได้...
วันนี้(30 ก.ค.)นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกับสมาคมภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีแนวทางร่วมกันที่จะช่วยเหลือหาช่องทางในการปล่อยสินเชื่อใหม่ และการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับเอสเอ็มอี เพื่อช่วยเหลือเพิ่มสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นนั้น ในขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการหารือถึงความเป็นไปได้ในการวางแนวทางในการปรับโครงสร้างหนี้ที่ชัดเจน และรวดเร็วขึ้น ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ว่าควรจะใช้แนวทางใดจะเกิดผลเป็นรูปธรรมมากที่สุด เพราะการปรับโครงสร้างหนี้ของรายย่อยมีรายละเอียดมากกว่าการปรับโครงหารหนี้ของรายใหญ่ ที่ ธปท.เคยดำเนินการในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ผ่านมา ดังนั้น ธปท.จะทำอะไรก็ต้องระมัดระวังผลกระทบด้านอื่นๆที่จะตามมาด้วย
“ในขณะนี้ ธปท.คาดไว้ว่า รูปแบบในเบื้องต้นของการเร่งรัดการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับเอสเอ็มอี อาจจะใช้วิธีมานั่งคุยระหว่างธนาคารเจ้าหนี้ และลูกหนี้ เพื่อ หาเงื่อนไขที่รับกันได้ โดยเจ้าหน้าที่ของธปท.จะทำหน้าที่เป็นคนกลางประสานให้ คล้ายๆ กับการคณะกรรมการปรับโครงสร้างหนี้ ทำช่วงวิกฤตปี 40” นายสรสิทธิ์ กล่าว
นายสรสิทธิ์ กล่าวอีกว่า แต่รูปแบบของการเป็นคนกลางในการปรับโครงสร้างหนี้เป็นการเจรจาเพื่อหาจุดที่ ทั้งสองฝ่ายรับได้ มากกว่าการกำหนดเป็นเกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้ตายตัวเหมือนที่ทำกับลูกหนี้รายใหญ่ เพราะหนี้ที่มีปัญหาขณะนี้เป็นหนี้ของธุรกิจรายย่อย รวมถึงประชาชน โดยแนวทางการในการปรับโครงสร้างหนี้ จะเป็นการยืดอายุหนี้ออกไป การปรับลดยอดชำระหนี้ต่องวด หรืออื่นๆ ตามความเหมาะสมของลูกนี้แต่ละรายและเจ้าหนี้แต่ละธนาคารด้วย
ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. กล่าวต่อว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่า ในส่วนของธปท.เองจะให้หน่วยงานใดเข้ามาช่วยเรื่องนี้ หรือตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมา แต่มีความเป็นไปได้ว่าธปท.อาจจะพิจารณาให้ศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาการขอสิน เชื่อของธปท.ที่มีอยู่แล้ว ช่วยทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับธุรกิจขนาดย่อมด้วย โดยทำหน้าที่เป็นตัวแทนหรือเป็นคนกลางในการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ระหว่าง ธนาคารเจ้าหนี้และผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้ไปเลยก็ได้ ซึ่งต้องรอข้อสรุปที่ชัดเจนอีกครั้ง.
ขอขอบคุณรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ