เจ้าของบัตรเสียชีวิต เจ้าหนี้จะให้ใครชำระหนี้แทน
1.นายก. เสียชีวิตและเป็นหนี้บัตรอิออนอยู่ นายก. มีแฟนแต่ไม่ได้จดทะเบียน ปัจจุบันเลิกกันแล้ว และมีลูก 1 คน อายุ 13 ปี (พ่อของลูกเสียชีวติแล้ว) สอบถามว่าบัตรฯ จะฟ้องบังคับชำระหนี้กับใคร
2.หากนายก. มีทรัพย์สินคือ รถยนต์อยู่ แต่ติดภาระหนี้ Finance อยู่ บริษัทบัตรฯ จะฟ้องยึดรถดังกล่าวได้หรือไม่
3.หากไม่มีการชำระหนี้ ทางบริษัทฯจะดำเนินการอย่างไรกับนาย ก.เนื่องจากเสียชีวิตแล้ว และอายุความของคดีนี้มีอายุกี่ปี
คำแนะนำสำนักงานทนายความ ทนายคลายทุกข์
1. ความรับผิดชำระหนี้บัตรเครดิตเป็นกองมรดกของนาย ก. ตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมคือบุตรของนาย ก. ถ้าบิดามารดานาย ก. ตายไปแล้ว แต่ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1600,1601
2.รถที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของไฟแนนซ์ เจ้าหนี้บัตรเครดิตไม่มีสิทธิฟ้องยึดรถชำระหนี้ได้ ยึดหรืออายัดได้แต่เฉพาะสิทธิการเช่าซื้อเท่านั้น
3. อายุความที่เจ้าหนี้ของนาย ก. ฟ้องภายในกำหนด 1 ปี รับแต่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของนาย ก. ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1754 วรรคสาม,วรรคสี่
ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1600 ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้
มาตรา 1601 ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน
มาตรา 1754 ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายหรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม
ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย