นายจ้างหักเงินประกันสังคมแต่ไม่นำส่ง
นายจ้างหักเงินเดือนเพื่อจ่ายประกันสังคมตามกฎหมาย. แต่นายจ้างไม่นำส่งเงินให้กับประกันสังคม ทำให้มีปัญหาเรื่องสิทธิการได้รับผลประโยชน์คือ นำส่งเกิน180 งวด ต้องได้รับสิทธิ์ได้รับเงินบำนาญ เมื่ออายุ 55 ปี. แต่พอนายจ้างไม่ยอมนำเงินส่งประกันสังคมทำให้ประวัติการจ่ายไม่ครบ 180 งวด. ประกันสังคมแจ้งจะได้รับเป็นบำเหน็จแทน. กรณีนี้พนักงานสามารถรวมตัวกันฟ้องนายจ้างฐานยักยอกทรัพย์ หรือ ฐานฉ้อโกงทรัพย์กับนายจ้าง เพราะทำให้เกิดความเสียหายหรือขาดผลประโยชน์ได้หรือไม่
คำแนะนำสำนักงานทนายคลายทุกข์
กรณีตามปัญหา ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง นายจ้างมีหน้าที่ต้องหักค่าจ้างของผู้ประกันตนตามจำนวนที่ต้องนำส่งเป็นเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตน และเมื่อนายจ้างได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้วตั้งแต่วันที่นายจ้างหักค่าจ้างตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม 2533 มาตรา 47 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ถ้านายจ้างไม่นำส่งเงินสมทบพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมมีหน้าที่ทำคำเตือนเป็นหนังสือให้นายจ้างนำเงินสมทบที่ค้างชำระ และเงินเพิ่มมาชำระภายในกำหนดไม่น้อยกว่า 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้น ถ้านายจ้างได้รับคำเตือนดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่นำเงินสมทบที่ค้างชำระและเงินเพิ่มมาชำระภายในกำหนด พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินเงินสมทบและแจ้งเป็นหนังสือให้นายจ้างนำส่งได้ตามความมาตรา 47 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว