การละทิ้งหน้าที่ของลูกจ้าง
กรณีลูกจ้างได้ละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานติดต่อกัน นายจ้างจำเป็นต้องทำหนังสือแจ้งไปทาง ปณ.ยังที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของลูกจ้าง เพื่อให้ลูกจ้างติดต่อกลับ แจ้งถึงเหตุอันสมควรที่ละทิ้งหน้าที่ไปหรือไม่ หากมีคำสั่งเลิกจ้างด้วยเหตุละทิ้งหน้าที่ โดยไม่ทำหนังสือดังกล่าวแจ้งไปยังลูกจ้าง จะมีโอกาสแพ้คดีในศาลหรือไม่ หากมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น
คำแนะนำสำนักงานทนายความทนายคลายทุกข์
การที่ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร นายจ้างชอบที่จะเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างและไม่มีบทกฎหมายใดบังคับให้นายจ้างต้องทำหนังสือบอกกล่าวการเลิกจ้างเป็นทางการไปรษณีย์ไปยังลูกจ้างแต่อย่างใด เพียงแต่พรบ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคสาม มีบทกำหนดว่ากรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นกล่าวอ้างในภายหลังไม่ได้
ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
มาตรา 17 สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน ทั้งนี้ ให้ถือว่าสัญญาจ้างทดลองงานเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาด้วย
การบอกเลิกสัญญาจ้างตามวรรคสอง นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้
การบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่การเลิกจ้างตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 583 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์