ผ่อนหนี้หลังหมดอายุความเจ้าหนี้อายัดเงินเดือนได้หรือไม่
เป็นหนี้เช่าซื้อสินค้าตั้งแต่ปี 43 แล้วก็ไม่ได้ชำระ จนเจ้าหนี้ไปฟ้องศาล ศาลมีคำตัดสินในเดือนกรกฏาคม ปี 2546 ให้ชำระหนี้ยอดเงิน 23,000 บาท และดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่ทางผมก็ไม่ได้รับเอกสารใดๆ เลยรวมถึงไม่ได้รับการติดต่อจากเจ้าหนี้ (เนื่องจากย้ายที่อยู่ และมีความเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 ได้ชำระหนี้ให้แล้ว เพราะเป็นหนี้ที่มีคนค้ำ แล้วคนค้ำเป็นหนี้ผมอยู่)
จนเวลาล่วงเลยมาเกือบสิบปีหลังจากศาลตัดสิน ถึงได้มีเจ้าหน้าที่บริษัทกฏหมายติดต่อเข้ามาเพื่อให้ชำระหนี้ แต่ทางเจ้าหนี้ได้คำนวณดอกเบี้ยรวมแล้วเป็นเงินเกือบ 50,000 บาท และถ้าผมชำระยอดเต็มก็ไม่ยอมที่จะลดยอดเงินให้ เขาลดให้ได้แค่ค่าติดตามหนี้ซึ่งไม่เกิน 3000 บาท โดยมีการขู่ว่าจะเข้ามาอายัดเงินเดือน ผมแจ้งว่าถ้าจะขอผ่อน แต่ทางเจ้าหนี้ก็ให้ผ่อนได้ไม่เกิน 6 งวด แต่ดอกเบี้ยก็จะต้องคำนวณใหม่ทุกงวด ก็ยังเป็นยอดเงินต่อเดือนที่สูงอยู่
คำถาม
ถ้าผมจะผ่อน แล้วหลังเดือนกรกฏาคม 2556 ที่หมดอายุความไปแล้ว และไม่ได้ผ่อนต่อ จะมีผลอะไรในการที่เจ้าหนี้จะฟ้องร้องต่อได้หรือไม่ หรือถ้าเจ้าหนี้ทำหนังสืออายัดเงินเดือนเข้ามาที่บริษัท แล้วหลังหมดอายุความเดือน กรกฏาคม 2556 จะยังสามารถอายัดเงินเดือนผมต่อไปได้อีกหรือไม่ครับ
คำแนะนำสำนักงานทนายความ ทนายคลายทุกข์
1. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องร้องขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา โดย ป.วิ.พ.มาตรา 271 ไม่ได้บัญญัติว่าต้องมีการบังคับคดีให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ร้องขออายัดเงินเดือนลูกหนี้ภายใน 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีก็มีสิทธิดำเนินการบังคับคดีต่อไปจนเสร็จสิ้น แม้จะพ้นกำหนดเวลา 10 ปี แล้วก็ตาม
2. หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตกลงยินยอมให้ท่านซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ร้องขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปี ก็หมดสิทธิบังคับคดีนั้น
3. การบังคับคดีนั้นเป็นสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะบังคับเมื่อใดก็ได้ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ตราบใดที่ลูกหนี้ไม่ได้ชำระหนี้นั้นให้เสร็จสิ้น ก็ยังคงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดนั้นตามกฎหมายโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะใช้สิทธิเมื่อใด