กลโกงพนักงานแบงก์ กลไกจรรยาบรรณวิชาชีพอ่อนแอ
ทนายคลายทุกข์ขอนำบทความจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการเกี่ยวกับการวิเคราะห์กลโกงพนักงานแบงก์ ในยุคสมัยแห่งวัตถุและการบริโภคนิยม ข่าวการทุจริตคอร์รัปชั่นดูคล้ายเรื่องปกติธรรมดาที่เห็นกันดาษดื่นจนชาชิน ตั้งแต่คนธรรมดาระดับล่างไปจนถึงบุคคลระดับผู้บริหารประเทศ การฉ้อโกงกับคนไทยจึงไม่ต่างอะไรจากไข้หวัดเรื้อรังที่รักษาไม่หาย หากมีใครสักคนหยิบยกหัวข้อการทุจริตมาพูด คงฟังอาจเพียงแค่ยักไหล่...ก่อนหันไปเมาท์เรื่องดาราต่อไป (ดีกว่า)
แต่ล่าสุด ริชาร์ด พาร์กินสัน ผู้จัดการบริษัทมีเมนโต ภาคพื้นยุโรปและเอเชียแปซิฟิค ได้เปิดเผยถึงผลการสำรวจระบุว่า อีก 2-3 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มว่าอาชีพพนักงานแบงก์ หรือคนที่ทำงานธนาคารและสถาบันการเงินของไทยจะทุจริตมากยิ่งขึ้น ข่าวนี้คงทำให้หลายคนสะดุดหูหยุดฟัง เพราะคราวนี้ไม่ใช่เงินภาษีหรือเงินคงคลังของชาติ แต่อาจหมายถึงเงินออมและสตางค์ในกระเป๋าของคุณด้วย
แกะรอยกลโกง
คดีพนักงานแบงก์โกงเงินธนาคารนั้น ที่ผ่านมาก็มีกรณีเช่นนี้เกิดกับธนาคารอื่นๆ เป็นระยะๆ แต่ที่เหมือนกันทุกคนก็คือ จุดจบของพวกเขาเหล่านั้น ออกจะไม่สวยงามสักเท่าไร ลองมาไล่เรียงดูสิว่ามีกลโกงการทุจริตในรูปแบบใดบ้าง
เริ่มจากเบาะๆ มูลค่าเงินไม่เท่าไหร่ อย่างคดีของ นายวิชัย ศรีอุทมาลย์ อดีตพนักงานบัญชี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาอ่างทอง ซึ่งเขาคนนี้ได้ทำการยักยอกเงินของลูกค้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาอ่างทอง ไปจำนวนทั้งสิ้น 677,185 บาท ตั้งแต่เมื่อปลายปี 2548 และหลบหนีไป แต่สุดท้ายก็โดนจับได้ในที่สุด แม้ในเบื้องต้นผู้ต้องหาจะให้การปฏิเสธ
ผู้ต้องหาคนต่อไปคือ นายอานนท์ สำเร็จ อายุ 42 ปี พนักงานธนาคารทหารไทย สาขานครนายก ซึ่งทำงานที่นี่มาเป็นเวลากว่า 10 ปี แต่เนื่องจากชอบเล่นหวย และเกิดหนี้สินจากหวยจำนวนมาก จึงทำให้ตัดสินใจยักยอกเงินของธนาคารมาตั้งแต่ต้นปี 2547 โดยที่ครั้งแรก เริ่มต้นที่ 6 หมื่นบาท และขยับยอดขึ้นมาเรื่อยๆ จนเป็นครั้งละแสน และหลายแสนบาท จนถูกจับได้
การโกงและยักยอกเงินของธนาคารและลูกค้านั้น ถึงแม้ว่าจะดูไม่หนักหนาสาหัสเท่าการเอาปืนไปฆาตกรรมคนอื่น ทว่า เมื่อศาลพิพากษาโทษออกมา ก็พบว่ามีความสาหัสสากรรจ์ไม่แพ้โทษของอาชญากรฆ่าคน
อย่างกรณีของ น.ส.ศุภรัศมิ์ พิพิธทวีวงษ์ อดีตพนักงาน ธนาคารกรุงเทพ สาขาสี่แยกบางนา ที่ถูกศาลสั่งจำคุกถึง 492 ปี (จำนวนรวมจากหลายๆ ข้อหา) และสั่งให้ชดใช้เงินอีก 65 ล้านบาท จากความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ ปลอมตั๋วเงิน ใช้เอกสารสิทธิปลอม
ทว่ากับบางคน ไม่ต้องรอให้ตำรวจจับได้หรือให้ศาลพิจารณาโทษ ก็ชิงลงโทษตัวเองไปเสียก่อน
เมื่อวันที่ 26 มกราคม ปี 2551 พบศพ นายพิภพ รัตนติสร้อย เจ้าหน้าที่แคชเชียร์ ธนาคารทหารไทย สาขาเทพารักษ์ ยิงตัวตายภายในห้องเบอร์ 308 โรงแรมสตาร์อินน์ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งในขณะนั้น เขากำลังโดนทางธนาคารตรวจสอบในข้อหายักยอกจำนวนกว่า 8 ล้านบาทอยู่ เนื่องจากความเครียด พนักงานธนาคารคนนี้จึงตัดสินใจลาโลกไปก่อนวัยอันควร
นอกจากคดีที่กล่าวมาข้างต้น การโกงและยักยอกเงินธนาคาร ยังมีอีกหลายกรณี ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับธนาคารและลูกค้า เริ่มตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงระดับร้อยล้าน ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ น.ส.รุจิรา ดาวเรือง เจ้าหน้าที่ธนาคารธนชาต สาขาอุบลราชธานี (รวมมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท), นายทัฬดนัย วัฒนวงศ์ อดีตพนักงานธนาคารไทยพาณิชย์ สาขานวมินทร์ (รวมมูลค่ากว่า 56 ล้านบาท), นายสงกรานต์ แผลงสูงเนิน พนักงานตรวจนับเงินธนาคารกรุงศรีอยุธยา (รวมมูลค่ากว่า 84 ล้านบาท), น.ส.วรรณา พงษ์สุภาพ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคาร กรุงศรีอยุธยา สาขาวังน้อย (รวมมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท) ฯลฯ
แต่การทุจริตใช่ว่าจะมีเฉพาะแต่พนักงานธนาคารระดับล่างหรือระดับกลางที่เกี่ยวข้องกับการเงินโดยตรงเท่านั้น เช่น กรณีของ นายสมเกียรติ ปัญญาวรคุณเดช พนักงานธนาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่ทุจริตเงินของธนาคารเป็นมูลค่ารวมถึงกว่า 499 ล้านบาท!!
นายสมเกียรติมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร จึงสามารถเข้าไปแก้ไขข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ของธนาคารที่ติดตั้งใหม่ ทำการปลอมสลิปเพื่อถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของลูกค้า และยักยอกเงินจากฐานข้อมูลธนาคาร การโกงของเขานับว่าเป็นคดีที่สั่นคลอนความน่าเชื่อถือของแวดวงธนาคารอย่างร้ายแรงในประวัติศาสตร์การทุจริตสถาบันการเงินของไทย
เมื่อเงินทองเป็นของล่อใจ
กับคนที่ทำงานใกล้ชิดเงินทองจำนวนมากอย่างพนักงานธนาคารที่ไม่คิดจะเอาเงินที่ไม่ใช่ของตัวเอง ข่าวคราวทำนองนี้ไม่ได้กระทบกระทั่งพวกเขามากนัก มีบ้างก็คงเป็นความรู้สึกไม่ค่อยดี เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของธนาคาร
ถามว่าพนักงานธนาคารที่รับผิดชอบส่วนไหนมีโอกาสโกงเงินลูกค้าได้มากที่สุด เราลองพูดคุยกับคนทำงานแบงก์ 2 คน ก็ตอบไม่ตรงกัน
นุ่น (ขอสงวนนามจริง) สาวพนักงานแบงก์ที่มีหน้าที่รับ-ฝากเงินของลูกค้า เล่าว่าเท่าที่เคยได้ยินมาส่วนใหญ่พวกที่โกงจะเป็นฝ่ายสินเชื่อเพราะมีช่องทางมากกว่า
“อย่างงานที่ทำอยู่ รายการทุกอย่างที่ทำระบบมันชัดเจนเวลารับเงิน ส่งเงิน สมมติว่าเรื่อง Statement มันไม่ได้เป็นการคีย์รายการ ดังนั้น เราจะรับเงินจากลูกค้ามาลอยๆ ถ้าเราจะโกง คือเราก็ไม่คีย์เข้าหัวค่ารายได้ เท่ากับเงินในระบบ ก็ยังไม่มีเงินตัวนี้ แต่ความเป็นจริงตัวเงินสดมันมี แต่การตรวจสอบก็เน้นเรื่องนี้มากขึ้น ตอนนี้ออกรายงานอะไร ก็ขึ้นรายงานหมด สุดท้าย ทุกอย่างมันตรวจสอบได้” นุ่นอธิบาย
แต่ธเนศ ฉันทังกูล ซึ่งทำงานฝ่ายกฎหมายของธนาคารมองว่า พนักงานรับ-ฝากเงินคือคนที่มีโอกาสมากที่สุด
“คนที่มีโอกาสสูงที่จะโกงเงินธนาคาร ผมว่าน่าจะเป็นพนักงานที่ทำหน้าที่คีย์ข้อมูลเข้าไปในระบบ อย่างพวกรับฝากเงิน เพราะเขาจะมีอำนาจในการคีย์เงินเข้าไปในระบบ สมมติลูกค้าฝากร้อยหนึ่ง แต่อาจจะคีย์จริงแค่ห้าสิบ อีกห้าสิบตัวเองเอาไปหมุนก่อน ที่เคยได้ยินก็อย่างพนักงานปลอมลายเซ็นลูกค้า แต่เขาก็ต้องดูก่อนล่ะครับว่าเป็นลูกค้าประเภทเงินฝากเยอะและยอดเงินไม่ค่อยเคลื่อนไหว เพราะพนักงานส่วนนี้สามารถเข้าไปตรวจสอบบัญชีของลูกค้าได้ แต่ถ้าลูกค้าที่เงินหมุนตลอดก็ยาก เพราะเขาจะเห็นความเคลื่อนไหวของเงินตลอด ปลอมลายเซ็นแล้วก็ถอนออกมา ทำเอง ชงเอง กินเอง”
เราลองถามนุ่นว่า ทำงานอยู่กับเงินเยอะๆ มีชั่ววูบของอารมณ์หรือไม่ที่จะโกง เธอตอบว่า“บอกตรงๆว่าไม่เคย เพราะมันเห็นจนชิน โกงก็ไม่รอดหรอก ไม่คุ้มกัน”
เหมือนกับฝั่งของธเนศที่แม้จะไม่ได้ทำงานจับเงินเหมือนเพื่อนพนักงานคนอื่น แต่เขาก็เคยถามไถ่เพื่อนๆ ด้วยคำถามนี้ ซึ่งคำตอบส่วนใหญ่ออกมาในทำนองว่า เฉยๆ กับเงินมากๆ ที่ผ่านมือในแต่ละวัน เพราะถึงที่สุดแล้วมันก็ไม่ใช่ของของเรา
แต่ธเนศบอกว่าข่าวพนักงานธนาคารโกงเงิน ถ้าเทียบกับการโกงของระดับผู้บริหารแล้ว เปรียบกันไม่ได้
“ที่เห็นเป็นข่าวๆ ก็คือพนักงานโกง ที่จริงอาจจะไม่เยอะก็ได้นะถ้าเทียบกับระดับผู้บริหาร อันนั้นเขาโกงกันล้ำลึกกว่า ผมก็ไม่ค่อยรู้นะ มันจับยาก ไม่มีหลักฐาน แต่อย่างเวลามาขอสินเชื่อ การให้ใต้โต๊ะกัน แล้วก็สั่งเจ้าหน้าที่ว่าปล่อยกู้รายนี้นะ ทั้งๆ ที่หลักทรัพย์ หลักประกันอาจจะน้อยกว่าตัวนี้ แล้วก็ถูกยึด สุดท้าย ตัวเองก็ได้เงินก้อนไปแล้ว”
สิ่งยืนยันถึงการโกงระดับบิ๊ก ต้องย้อนกลับไปวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 บรรดานักการเงิน นักการธนาคารทั้งหลายที่ไร้ธรรมาภิบาลและล้มบนฟูกคงเป็นหลักฐานได้ว่า เวลาคนกลุ่มนี้โกง... ‘ใหญ่’ และ ‘เนียน’ กว่าแค่ไหน
พลาดที่ ‘คน’ หรือ ‘ระบบ’
แม้จะมีความพยายามแก้ไขและกอบกู้ชื่อเสียงความน่าเชื่อถือของธนาคารกลับคืนมา โดยสมาชิกสมาคมแบงก์ไทยได้รวมตัวก่อตั้ง ชมรมตรวจสอบและป้องกันทุจริต ขึ้น แต่ความคลางแคลงใจที่สังคมมีต่อความซื่อสัตย์ของพนักงานแบงก์ก็ยังไม่หมดสิ้น
แหล่งข่าวที่เป็นหัวหน้าฝ่ายการเงินธนาคารของรัฐแห่งหนึ่งเปิดเผยว่า การทุจริตหรือแอบยักยอกเงินของพนักงานที่ปรากฏนั้น ขึ้นอยู่กับระบบควบคุมภายในธนาคารแต่ละแห่ง ว่าจะมีมาตรการเข้มงวดและระบบการตรวจสอบที่ละเอียดรอบคอบหรือไม่
ตามปกติแล้ว เวลาสิ้นวัน ธนาคารจะมีการนำเงินเก็บเข้าเซฟ และจะมีพนักงานธนาคาร 3 คนเป็นผู้ถือกุญแจตู้เซฟคนละดอก คือ ผู้จัดการธนาคาร, สมุห์บัญชี และฝ่ายการเงิน ซึ่งแต่ละคนจะช่วยกันตรวจนับจำนวนเงินว่าครบถ้วนหรือไม่ ก่อนจะปิดเซฟในแต่ละวัน และในตอนเช้าพนักงานทั้งสามก็จะทำหน้าที่นำเงินออกจากตู้เซฟเพื่อนำไปเตรียมเบิกถอนแก่ลูกค้า ซึ่งนับว่าระบบการทำงานดังกล่าวนี้จะมีพนักงานธนาคารทั้งสามฝ่ายเป็นผู้เก็บรักษาเงินร่วมกัน
แต่ปัญหาการทุจริตจะเกิดจากช่องว่างในความไว้วางใจระหว่างพนักงาน เพราะในบางครั้งผู้จัดการและสมุห์บัญชีจะมอบกุญแจให้กับพนักงานอีกคน เป็นผู้คอยจัดการนำเงินเก็บเข้าเซฟคนเดียว โดยไม่มีการตรวจทานจำนวนเงินให้ตรงกันก่อนเพราะความไว้ใจ เท่ากับว่าพนักงานอีกคนนั้นเป็นผู้รักษาเงินคนเดียว โอกาสตรงจุดนี้จะนำมาสู่การทุจริตยักยอกเงินของพนักงานธนาคารที่แอบนำเงินไปหมุนก่อน ตอนเช้าหรือวันอื่นๆ ค่อยนำจำนวนเงินเท่ากับที่แอบยักยอกไปมาใส่เซฟคืนทีหลัง ซึ่งจะไม่มีทางตรวจรู้ว่าเงินบางส่วนหายไปเพราะพนักงานผู้นั้นเป็นผู้ถือกุญแจตู้เซฟคนเดียว
“แบบนี้ถือว่าการควบคุมภายในไม่รัดกุม หน้าที่ถือกุญแจของกรรมการทั้งสามคน ทุกคนต้องทำหน้าที่ของตัวเอง คือเชื่อใจแต่ไม่ไว้วางใจ”
ตัวอย่างการทุจริตอีกรูปแบบหนึ่งที่ปรากฏ คือในส่วนของพนักงานนับเงิน หรือ เทลเลอร์ ที่ทำหน้าที่รับฝาก ถอนเงิน ชำระค่าบริการต่างๆ ที่เคาน์เตอร์ ซึ่งในบางครั้งพนักงานจะรู้ความเคลื่อนไหวทางบัญชีของลูกค้า เช่น ทราบว่าลูกค้าคนนี้ไม่มาติดต่อธนาคาร นานๆ ถึงจะมาปรับบัญชีที ก็จะมีการถ่ายโอนเงินจากบัญชีของลูกค้ารายนั้นไป โดยที่เจ้าของบัญชีไม่ทราบ กว่าจะรู้ก็สูญเงินไปจำนวนไม่น้อย
อีกกรณี คือพนักงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบไปรับเงินลูกค้าจากข้างนอก ต้องมีการแต่งตั้งเป็นลายลักษณ์อักษร แต่บางธนาคารมีลูกค้าเก่าแก่ที่ติดต่อเชื่อถือกันมานาน ก็จะไว้ใจให้พนักงานธนาคารนำเงินฝากเข้าบัญชีให้ทุกเดือน เช่น ร้านขายของชำรายหนึ่งที่เปิดบัญชีกับธนาคารและให้พนักงานไปรับเงินกับร้านนี้เป็นประจำทุกเดือน แต่กลับปรากฏว่าพนักงานไม่ได้นำเงินเข้าบัญชีให้ทุกเดือน แต่แอบยักยอกเงินลูกค้ามาโดยตลอด
“ทุกอาชีพต้องมีจรรยาบรรณ ไม่ว่าจะอาชีพไหนก็ต้องมีคนที่ทุจริตต่ออาชีพของตัวเองอย่างน้อย 1-2 เปอร์เซ็นต์ เราแค่รักในอาชีพและทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เดี๋ยวนี้พนักงานแบงค์ต้องมีจรรยาบรรณและความรับผิดชอบ ก่อนจะเข้ามาทำงานต้องมีการสอนเรื่องจรรยาบรรณก่อนเป็นอันดับแรก ไม่ใช่แค่เรื่องความรู้ทางวิชาชีพอย่างเดียวเท่านั้น” พนักงานธนาคารคนดังกล่าวทิ้งท้าย
เพราะถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าระบบจะรัดกุมแค่ไหน ถ้าผู้ใช้ระบบขาดคุณธรรม จริยธรรม และความซื่อสัตย์ ระบบก็ช่วยอะไรไม่ได้มากนัก สุดท้ายก็ขึ้นอยู่ที่ตัวคน
ขอขอบคุณรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการหรืออ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.manager.co.th