ถือว่าคู่สัญญาต่างสมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยปริยาย
1.กรณีขาดนัด โจทก์ไม่มีหนังสือบอกเลิกสัญญา แต่มีการยึดรถที่เช่าซื้อคืน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13376/2558
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อเกิน 3 งวด โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว แต่ทางนำสืบของโจกท์ไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินที่ค้างชำระเมื่อใด ทั้งไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญแต่อย่างใด สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังมีผลผูกพันอยู่ แต่การที่โจทก์ติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนได้ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2549 โดยจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้ง พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายในวันที่โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน
2. กรณีมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแต่ยังไม่ครบ 30 วัน มีการยึดรถที่เช่าซื้อคืนก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15358/2558
แม้จำเลยที่ 1 จะผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อติดต่อกันเกิน 3 งวด แต่ปรากฎตามหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบอกเลิกสัญญาพร้อมใบตอบรับ เอกสารหมาย จ...ว่าโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อค้างชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระภายในระยะเวลาที่กำหนด ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันที และตามใบตอบรับจำเลยที่ 1 รับหนังสือในวันที่ 31 พฤษภาคม 2551 ซึ่งจะครบ 30 วันในวันที่ 30 มิถุนายน 2551 แต่โจทก์ไปยึดรถที่เช่าซื้อคืนเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2551 ซึ่งยังไม่ล่วงพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 ยินยอมให้ยึดรถและไม่ได้โต้แย้งทักท้วง อันเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายในวันยึดรถดังกล่าว อันเป็นการเลิกสัญญาด้วยเหตุอื่นมิใช่เป็นการเลิกสัญญาที่มีผลมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อคู่สัยญาจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้ออีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาจากค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระ โดยอาศัยข้อสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อที่ระงับไปแล้วได้ โจทก์คงมีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ครอบครองนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันที่ยึดรถที่เช่าซื้อได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม