ว่าด้วยเรื่อง"เมียน้อย"
คอลัมภ์คุยกับนักสืบวันนี้ ทีมงานทนายความและนักสืบ รายการทนายคลายทุกข์ ขอนำบทความเกี่ยวกับประสบการณ์จริงที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในทุกครอบครัว
กับการมาถึงของบุคคลที่สามที่มีอิทธิพลมากพอจะพลิกสถานการณ์ของครอบครัวให้ล้มคว่ำลงได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวที่มีความ "ห่างเหิน"
และ "ความตึงเครียด" เป็นบรรยากาศหลักของบ้าน
ครอบครัวที่ทีมงานมีโอกาสได้พูดคุยในครั้งนี้เป็นครอบครัวของคุณประสงค์ -
คุณพิมลวรรณ (ขอสงวนนามสกุล)
เจ้าของธุรกิจค้าปลีกทางภาคตะวันออก ซึ่งในวันที่เอ่ยปากเล่าถึงประสบการณ์ในอดีตนี้เป็นวันที่พายุพัดผ่านครอบครัวของคุณประสงค์ไปแล้วเรียบร้อย
และสมาชิกในบ้านกำลังอยู่ระหว่างการก่อร่างสร้างครอบครัวขึ้นมาใหม่
ซึ่งอาจมีบางส่วนต้องปะผุใจ ทำสีใหม่กันบ้าง
ต้นตอของพายุที่คุณประสงค์เอ่ยปากยอมรับว่าเป็นความผิดของเขาเองก็คือ “การปล่อยให้มีผู้หญิงอีกคนเข้ามาในชีวิต”
โดยผู้หญิงคนนั้นคือพี่เลี้ยงของลูกที่ทำหน้าที่ทุกอย่าง
ตั้งแต่ป้อนข้าวป้อนน้ำให้กับลูก ๆ กวาดบ้านถูบ้าน ซักผ้า
ขณะที่ภรรยาต้องออกไปทำงานนอกบ้าน
“ในช่วงเศรษฐกิจดี กิจการก็รุ่งเรือง มีลูกค้ามากมาย
ช่วงนั้นเป็นช่วงที่บ้านเราใช้เงินมือเติบมาก ไปทานข้าวนอกบ้านกันประจำ
เปลี่ยนรถใหม่ ลูก ๆ อยากได้อะไรซื้อให้ ไม่เคยขัดใจ ครอบครัวก็ดูจะมีความสุข
แต่พอเศรษฐกิจตกต่ำ เราต้องปลดลูกจ้างออก กิจการก็ทำเองคนเดียวเท่าที่ไหว
รายได้มันก็ลดลง”
ส่วนภรรยาที่ทำงานนอกบ้านอยู่แล้ว
ก็บังเอิญต้องแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปศึกษาต่อ
ซึ่งนอกจากจะดึงรายได้ของครอบครัวไปบางส่วน
ยังดึงเวลาที่เคยมีให้กับครอบครัวไปด้วย ผลที่ตามมาคือ ความห่างเหินของสามีภรรยา
และความตึงเครียดของบ้านเรื่องเงินไม่พอใช้ กลายเป็นความไม่เข้าใจที่สามารถปะทุขึ้นได้เรื่อย
ๆ ทันทีที่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจุดประเด็น
“ความที่เราสองคนสามีภรรยาเป็นคนมีการศึกษาดีกันทั้งคู่ ที่ผ่านมา
เราก็เลยเอาแต่เรียน เอาแต่ทำงาน ทักษะเรื่องการดูแลกัน ดูแลครอบครัว
ดูแลลูกเลยไม่มี หรือเรียกว่าไม่ค่อยจะเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น เมื่อเจอปัญหา
ต่างคนก็ต่างเก่ง ต่างคนต่างไม่ยอมกัน มันก็เลยทะเลาะกันบ่อยขึ้น ๆ จนตอนหลัง ๆ
ต้องนอนแยกห้อง”
ผลที่ตามมาหลังจากนั้นคือ เสาเรือใหญ่ของบ้านยอมรับว่า
เขาเองก็ต้องการที่พึ่งทางใจ นั่นจึงทำให้บุคคลที่เคยเป็นแค่พี่เลี้ยงลูกในบ้านเข้ามามีบทบาทแทรกกลางระหว่างคนสองคนได้
“ความใกล้ชิดเป็นส่วนหนึ่ง เพราะกิจการของเราอยู่ที่บ้าน บางทีเราเหนื่อย ๆ
มา พี่เลี้ยงเด็กคนนี้เขาก็เอาน้ำเย็นมาให้ หรือมาคอยดูแล” ซึ่งเขาเองยอมรับว่าเคยนำไปเปรียบเทียบกับภรรยาที่ไม่ค่อยได้ดูแลเขาเท่าที่ควรเช่นกัน
วันที่พายุแตะพื้น
ครอบครัวที่อยู่ในบรรยากาศตึงเครียดครอบครัวนี้มาถึงจุดแตกหักเมื่อวันหนึ่ง
คุณพิมลวรรณกลับมาบ้านก่อนเวลาปกติ
“วันนั้นมีเหตุต้องกลับบ้านเร็วกว่าปกติ แต่พอกลับมา ก็พบว่าบ้านเงียบ
เดินขึ้นมาชั้นสองก็ได้ยินเสียงกุกกัก ๆ อยู่ในห้อง แล้วก็เสียงคนคุยกันหงุงหงิง
ตอนนั้นมือเย็นมาก พยายามตั้งสติ มือก็ควานหากุญแจห้อง หาให้ถูกดอก
จะได้ไขทีเดียวไม่พลาด ซึ่งหาไปมือก็สั่นไป พอไขประตูเข้าไป
ภาพที่พบก็เป็นอย่างที่คิดไว้ ซึ่งสำหรับผู้หญิงทุกคน มันเป็นช่วงเวลาที่สติแตกมาก
ๆ”
“ยอมรับว่าเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายมาก มันทั้งโกรธ ทั้งเกลียด
ทั้งขยะแขยงสามี มีอะไรใกล้มือเราทุ่มใส่เขาไปก่อน โวยวาย เสียงดัง นาทีนั้น
อะไรก็เอาไม่อยู่แล้ว ส่วนพี่เลี้ยงลูกคนนั้น เราไล่เขาออกไปในแทบจะวินาทีนั้นเลย”
ด้านลูก ๆ
ทั้งสามคน เมื่อพบกับความแตกสลายของครอบครัว
สิ่งที่เด็กได้รับจึงหนีไม่พ้นความเจ็บปวด
“ตอนนั้น การเป็นพ่อไม่ได้มีค่าอะไรอีกเลยในสายตาลูก จากที่ลูกเคยรักเรา
เล่นกับเรา วันหนึ่งเขากลับบอกว่า เขาเกลียดพ่อ คำ ๆ
นี้ทำให้หัวใจคนเป็นพ่อเจ็บปวดมาก นาทีนั้นเราเลยได้คิด ว่าเราอยากได้โอกาสจากลูก
อีกสักครั้งก็ยังดี อยากให้เขามองเราเป็นพ่อเหมือนเดิม ไม่ใช่มองด้วยสายตาเจ็บปวดแบบนี้”
นานนับเดือนกว่าที่บรรยากาศในบ้านจะคลายความตึงเครียดลง
แต่ก็ยังไม่วายที่จะมีชนวนปะทุความขัดแย้งเป็นระยะ ๆ
เหตุจากบาดแผลฝังใจของภรรยาที่ยากจะลบเลือน
“ตอนนั้น ความรู้สึกเกลียดชัง หรือแค้น มันยังมีอยู่
มันเลยทำให้เราคอยแต่จะประชดประชัน และเล่นเกมการเมืองกับสามี
พยายามทำให้ลูกเข้าข้างเรา เห็นใจเรา เหมือนแย่งลูกกัน ว่าลูกจะอยู่ฝ่ายใคร
พ่อหรือแม่ ต่างคนต่างพยายามชี้จุดไม่ดีของกันและกันให้ลูกเห็น ซึ่งจริง ๆ
แล้วมันไม่มีประโยชน์เลย”
แต่เมื่อเวลาผ่านไป
สองสามีภรรยาได้มีเวลาย้อนมองความผิดพลาดของตนเอง ตลอดจนบาดแผลในใจที่ลูก ๆ ได้รับ
จึงทำให้คนสองคนเริ่มได้สติกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง
ละครไม่
“สอนใจ” เสมอไป
แม้ชีวิตในละครจะเต็มไปด้วยฉากทะเลาะเบาะแว้ง หรือมีเนื้อหารุนแรง แต่ฉากสุดท้ายของละคร
พระเอกนางเอกมักจะลงเอยอย่างมีความสุข แต่ในชีวิตจริง ไม่เสมอไปที่จะเป็นเช่นนั้น
“ตัวละครจะกรี๊ดกร๊าดแค่ไหนก็ได้
จะร้ายเพียงใดก็ได้ แต่เราต้องไม่นำมาใช้ในชีวิตจริง เพราะเมื่อไรที่เราเอ่ยคำหยาบ
คำประชดประชัน หรือทำพฤติกรรมโวยวายเลียนแบบในละคร
ชีวิตครอบครัวเราพร้อมจะพังลงได้ในทันที” คุณพิมลวรรณยอมรับ
“มันไม่เหมือนในละคร ที่ผู้หญิงเล่นตัวได้ มีผู้ชายมาง้อ ในชีวิตจริง
เราก็ผิดเองที่ไม่ค่อยได้มีเวลาดูแลสามี มันต้องเข้าใจกันทั้งสองฝ่าย
ไม่ใช่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาเข้าใจ หรือมาอดทนอยู่ฝ่ายเดียว
เราเองก็บกพร่องในหน้าที่หลาย ๆ อย่าง ที่ไม่ได้ดูแลสามีเท่าที่ควร”
“ตอนที่เกิดเรื่อง เราใช้อารมณ์กันทั้งสองฝ่าย และพร้อมจะแตกหัก
แต่ก็มีผู้ใหญ่หลายคนให้สติ ให้คำแนะนำในการใช้ชีวิตคู่ เช่น ความในอย่านำออก
ความนอกอย่านำเข้า ไม่ต้องเอาเรื่องของคนในบ้านไปเล่าให้คนข้างนอกฟัง
เพราะเขาก็เล่าต่อกันไปสนุกปาก แต่คนของเราเวลาไปเจอคนอื่นจะทำหน้าอย่างไร
จะมีหน้ามีตาในสังคมได้ไหม แล้วก็อย่าพูดจาทำร้ายจิตใจกัน คำหยาบ
คำประชดประชันต้องเลิก และหันมาคุยกันจริง ๆ จัง ๆ พยายามทิ้งความเกลียดชัง
ทิ้งความขยะแขยงออกไป ข้อสุดท้ายคือ ถ้าไม่ถึงที่สุดจริง ๆ อย่าท้าเลิก”
ด้านคุณประสงค์สามีเองก็ออกมายอมรับความผิดพลาดด้วยเช่นกัน “สิ่งที่อยากได้กลับคืนมาคือโอกาสจากลูก
ๆ และภรรยา อยากทำครอบครัวให้ดีเหมือนเดิม ความผิดพลาดมันอาจเกิดขึ้นได้
แต่หลังจากนั้นคนที่ทำผิดพลาดส่วนมากอยากขอโอกาสในการแก้ตัวใหม่
เพราะเราอยากได้กำลังใจ อยากให้คนในครอบครัวกลับมาอยู่ร่วมกัน
รักกันเหมือนเดิมอีกครั้งหนึ่ง”
บทความดังกล่าวข้างต้นทีมงานทนายความและนักสืบ รายการทนายคลายทุกข์ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ
จากเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ สำหรับท่านผู้อ่านท่านใดที่มีเรื่องราวดี
ๆ หรือประสบการณ์ของครอบครัวที่น่าจดจำ และต้องการแบ่งปันให้ท่านอื่น ๆ ได้ทราบ
หรือได้เป็นอุทาหรณ์สอนใจ สามารถส่งเรื่องราวของท่านเข้ามาได้เช่นกันที่คอลัมภ์คุยกับนักสืบที่ www.decha.com หรือ e-mail: [email protected] หรือถ้ามีปัญหาต้องการคำปรึกษาจากผู้ที่มีประสบการณ์โดยตรง สามารถขอคำปรึกษาได้ที่ 02-9485700
ขอขอบคุณบทความจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์