การเรียกค่าเสียหายคดีละเมิด
หนูมีเรื่องจะรบกวนถามหน่อยค่ะ อันนี้เป็นกรณีของพ่อ พอดีเหตุเกิดวันที่ 25 ก.พ. พ่อขับมอไซต์ไปทางตรง มีรถกระบะขับมาอีกทาง เขาเลี้ยวมาชนพ่ออย่างแรง (พอดีทางที่คู่กรณีจะเลี้ยวเป็นร้านค้าเขาจะมาซื้อของ) พอได้รับบาดเจ็บ กรามหัก หัวเข่าสะบร้าแตก กระดูกที่สระโพกหัก ต้องผ่าตัดใส่เหล็ก ออกจากโรงพยาบาลมาเมื่อวันที่ 15 มี.ค. แต่คู่กรณีก็มาเยี่ยมประจำไม่ได้ทอดทิ้ง ส่วนค่ารักษา พ่อใช้ พรบ.ของมอไซด์ 15,000 แล้วก็ใช้สิทธิ์ต้นสังกัดของพ่อค่ะ (พ่อเป็นนักการภารโรง) แล้วหนูสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากคู่กรณีอะไรได้บ้างค่ะ (ตอนนี้พ่อยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และไม่ทราบว่าจะกลับมาเดินได้เมื่อไหร่ค่ะ)
คำแนะนำสำนักงานทนายความ ทนายคลายทุกข์
คู่กรณีกระทำละเมิดตาม ป.พ.พ.มาตรา 420 ประกอบมาตรา 437 จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีนี้เป็นการทำให้เสียหายแก่ร่างกาย อนามัย ตามมาตรา 444 , 445 เรียกค่ารักษาพยาบาล, ค่าเสื่อมสุขภาพ, ค่าขาดประโยชน์จากการทำงาน แต่จะต้องทำภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ.มาตรา 448
ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 437 บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง
ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงผู้มีไว้ในครอบครองของตน ซึ่งทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ หรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้ หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นด้วย
มาตรา 444 ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น ผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย
ถ้าในเวลาที่พิพากษาคดี เป็นพ้นวิสัยจะหยั่งรู้ได้แน่ว่าความเสียหายนั้นได้มีแท้จริงเพียงใด ศาลจะกล่าวในคำพิพากษาว่ายังสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษานั้นอีกภายในระยะเวลาไม่เกินสองปีก็ได้
มาตรา 445 ในกรณีทำให้เขาถึงตาย หรือให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ถ้าผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมาย จะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือน หรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย
มาตรา 448 สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด
แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ