กู้เงินแต่เจ้าหนี้ให้ทำเป็นสัญญาขายฝากเป็นโมฆะ ฟ้องขับไล่ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2532/2565
โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่า หนังสือสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธว่าสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมที่ชอบด้วยกฎหมายมีผลสมบูรณ์ โจทก์ทั้งสองจึงมีภาระการพิสูจน์ว่าสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมเงิน เนื่องจากสัญญาขายฝากเป็นเอกสารสัญญามหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น ป.วิ.พ. มาตรา 127 บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง จากทางนำสืบของโจทก์ โจทก์โอนเงินดอกเบี้ย 2 ครั้ง ให้ ฉ. และ ฉ. โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 ซึ่งจะเท่ากับดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อเดือน จากต้นเงิน 350,000 บาท ซึ่งโอนหลังจากหักดอกเบี้ยล่วงหน้า 2 เดือนแล้ว ซึ่งหากโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาทำสัญญาขายฝากจริง ก็ไม่มีเหตุผลใดที่ต้องมีการผ่อนชำระดอกเบี้ยแก่กันเพราะการขายฝากที่ดินพิพาทสามารถชำระเงินสินไถ่ให้แก่ผู้ซื้อฝากได้ในคราวเดียวหรือนำเงินสินไถ่ไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์เพื่อไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืนได้ในคราวเดียวกันไม่จำต้องชำระดอกเบี้ยรายเดือน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมที่มีที่ดินพิพาทเป็นประกัน ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เมื่อโจทก์ทั้งสองกู้ยืมเงินจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยมอบโฉนดที่ดินให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยึดถือเป็นหลักประกัน โจทก์ทั้งสองต้องรับผิดชำระเงินกู้ยืม 350,000 บาท แต่การกู้ยืมมีการคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเกิดจากการเรียกดอกเบี้ยอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 มาตรา 4 (1) ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยย่อมเป็นโมฆะ การที่โจทก์ชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 โจทก์ทั้งสองไม่อาจเรียกคืนได้ แต่ต้องนำเงินที่โจทก์ทั้งสองชำระไปหักเงินต้นดังกล่าว และเมื่อนิติกรรมการขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินโดยมีที่ดินพิพาทเป็นหลักประกันจึงตกเป็นโมฆะดังวินิจฉัยข้างต้น ทำให้ที่ดินพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ แต่เนื่องจากจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จำเลยที่ 3 จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย โจทก์ทั้งสองไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ได้ สภาพแห่งหนี้จึงไม่อาจเปิดช่องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ จึงต้องรับผิดชดใช้ราคาที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยคิดตามราคาประเมินตามที่โจทก์ทั้งสองมีคำขอและให้นำไปหักเงินกับหนี้ที่โจทก์ทั้งสองต้องชำระตามสัญญากู้ยืมให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2
#ปรึกษาคดี โทร.02-9485700, 081-8217470, 081-6252161
#ฟ้องขับไล่ #ขับไล่ #นิติกรรมอำพราง #ขายฝาก #กู้ยืมเงิน